กทม. 19 ธ.ค.-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เสนอให้ปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายราชทัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัย และยกเลิกระบบลดหย่อนโทษ มาใช้ระบบพักการลงโทษแทน เพื่อแก้ปัญหานักโทษคดีอุกฉกรรจ์ก่อเหตุซ้ำ
คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต หรือสั่งจำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา มีอยู่หลายคดีดัง ก่อนที่เขาจะได้รับการลดโทษ และปล่อยตัวออกจากเรือนจำ
เช่น ปี 40 นายศักดิ์ ปากรอ ฆ่ายกครัวครอบครัวบุญทวี ด้วยวิธีแขวนคอพ่อแม่และลูก รวม 5 ชีวิต ห้อยกับราวบันได เพียงเพราะต้องการเงิน 1 ล้านบาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ระหว่างจองจำได้รับการลดโทษ ถูกจำคุกจริงๆ เพียง 13 ปี หลังพ้นโทษออกมาเป็นมือปืน และถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด
ปี 41 นายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ ฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาวรุ่นพี่ นักศึกษาแพทย์ปี 5 หลังโกรธเพราะถูกบอกเลิก ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต แต่ถูกจำคุกจริงเพียง 13 ปี 9 เดือน เพราะปฏิบัติตัวดี ได้รับการอภัยโทษ 5 ครั้ง
ล่าสุดนายสมคิด พุ่มพวง ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงสาว 5 ราย เมื่อปี 48 ศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต 3 คดี และประหารชีวิต 2 คดี แต่ได้ลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต สุดท้ายถูกจำคุกจริงเพียง 14 ปี เพิ่งพ้นโทษออกมาเมื่อกลางปีนี้ ก่อนมาก่อเหตุฆ่าหญิงสาวที่ขอนแก่นซ้ำอีกเป็นรายที่ 6
กรณีนักโทษที่พ้นโทษแล้วกลับมาก่อเหตุซ้ำ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มองว่าปัญหานี้เกิดจากข้อบกพร่องของกฎหมาย และนักโทษล้นคุก ไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ จึงเสนอให้ปรับแก้กฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก เช่น การนำมาตรการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39 ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัย มาใช้หลังพ้นโทษ 3-10 ปีได้ ตั้งแต่พ้นโทษครั้งแรก โดยไม่ต้องติดเงื่อนไขว่าต้องพ้นโทษมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ถึงจะถูกกักกัน
อีกเรื่องที่ควรปรับแก้คือ การคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล หรือบังคับบำบัด ตั้งแต่นักโทษที่มีอาการบกพร่องทางจิต อย่างนายสมคิด พุ่มพวง โดยไม่ต้องรอให้รุนแรงถึงขึ้นวิกลจริต เพื่อให้หายดีก่อน ป้องกันไม่ให้ออกไปก่อเหตุซ้ำ
อาจารย์จรัญยังเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายราชทัณฑ์ ยกเลิกการใช้ระบบลดหย่อนโทษ มาใช้วิธีพักการลงโทษ ที่มีกระบวนการบำบัดรักษา กำกับดูแลอย่างต่อเนื่องแทน โดยที่ไม่ได้ตัดสิทธิใดๆ ของนักโทษ
ส่วนที่มีการเสนอเบื้องต้นว่าผู้ต้องโทษจำคุกเกิน 25 ปีขึ้นไป อาจไม่ได้ลดโทษ หรือได้ลดโทษในสัดส่วนที่น้อยลง อาจารย์จรัญมองว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะอาจไปลิดรอนสิทธินักโทษในคดีอื่นๆ เช่น คดียาเสพติด หรือคดีฉ้อโกง ที่เขาอาจมีเป็นนักโทษชั้นดีได้ ขณะที่คณะกรรมการกลั่นกรองของกรมราชทัณฑ์กำลังพิจารณารื้อระบบการลดโทษ และพักการลงโทษ เร่งหามาตรการคุมเข้ม ไม่ให้เกิดปัญหานักโทษคดีอุกฉกรรจ์ก่อเหตุซ้ำอีก.-สำนักข่าวไทย