ภัยแล้งเริ่มแล้ว ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงสุด น้ำเค็มทะลักใกล้แหล่งผลิตน้ำประปา

ศูนย์ข่าวภาคกลาง 17 ธ.ค.- สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มแล้ว พบสัญญาณจะรุนแรงว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางลดลงต่อเนื่อง ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงสุด น้ำเค็มทะลักจากปากน้ำเข้าใกล้แหล่งผลิตน้ำประปาหลัก  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนรับมือทั้งสั่งงดทำนาปรัง เตรียมผันน้ำจากแม่กลองช่วย


ข้อมูลกรมชลประทาน ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2562 รายงานปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 447 แห่ง รวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 25,193 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ลดลง 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,211 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ลดลง 11,063 ล้าน ลบ.ม. เป็นการปรับลดลงเกือบทุกพื้นที่


พื้นที่เสี่ยงที่ปริมาณน้ำลดลงมากที่สุดคือ  ภาคกลาง ลดลง 43% จาก 1,023 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 588 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ขณะที่ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาณน้ำรวม 11,633 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 4,937 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 27% ของความจุ ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 19,012 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 76% ของความจุ และใช้การได้ 12,316 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุ เท่ากับน้ำใช้การได้หายไปเกินกว่าครึ่งจากปีก่อน ทั้งที่ฤดูแล้งเพิ่งผ่านไปเพียง 1 เดือน (พ.ย.) ยังเหลืออีก 5 เดือน ถึงเดือน เม.ย. 2563

เบื้องต้นกรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/2563 ในลุ่มเจ้าพระยาล่วงหน้าแล้ว คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ 5,377 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น น้ำต้นทุนก้อนแรก 4,000 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 65%) จะถูกจัดสรรช่วงเดือน พ.ย. 62-เม.ย. 63 สำหรับรักษาระบบนิเวศ 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของน้ำต้นทุน รองลงมาใช้อุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% ปลูกพืชต่อเนื่องและอื่น ๆ อีก 515 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% และใช้ในภาคอุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% หากไม่เพียงพอจะต้องผันน้ำจากกลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามารวม 500 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนน้ำต้นทุนก้อนที่ 2 ปริมาณ 2,227 ล้าน ลบ.ม. หรือสัดส่วน 35% ของน้ำต้นทุน จะจัดสรรใช้ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 63 แบ่งเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 1,845 ล้าน ลบ.ม. หรือ 83% ปริมาณน้ำสำรองกรณีฝนทิ้งช่วง 386 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% หากไม่เพียงพอจะจัดสรรน้ำแม่กลองมาช่วยอีก 350 ล้าน ลบ.ม.


สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนที่ปรับลดลงดังกล่าว ไม่เพียงสร้างความกังวลต่อการจัดการน้ำในฤดูแล้ง แต่น่าห่วงปัญหาน้ำเค็มที่จะทะลักเข้ามาด้วย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเค็มทะลักเข้ามาแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้ค่าความเค็มบางพื้นที่สูงเกินมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่กำหนดไว้ 0.25-0.50 กรัม/ลิตร โดยเฉพาะบริเวณด่านจุดวัดค่าความเค็ม 3 จุด จากทั้งหมด 4 จุด คือ จุดที่ 1 กรมชลประทานสามเสน ห่างจากปากน้ำ 58 กม. ค่าความเค็ม 2.54 กรัม/ลิตร จุดที่ 2 ท่าน้ำนนท์ ห่างจากปากน้ำ 65.6 กม. ค่าความเค็ม 1.73 กรัม/ลิตร 

จุดที่ 3 สะพานพระนั่งเกล้า ห่างจากปากน้ำ 69. กม. ค่าความเค็ม 0.92 กรัม/ลิตร จากจุดนี้ระยะทางไม่ถึง 40 กม. จะเข้าสู่จุดที่ 4 คือสถานีน้ำประปาสำแล ซึ่งห่างจากปากน้ำ 100 กม. ขณะนี้ค่าความเค็มอยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร หากน้ำเค็มทะลักจากปากน้ำเข้ามาใกล้จุดที่ใช้เป็นแหล่งน้ำผลิตน้ำประปาหลัก คือ สถานีประปาสำแล อีกเพียง 31 กม.เท่านั้น

ล่าสุดสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายอันเกิดจากน้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังคือภาคตะวันออก และจังหวัดแถบลุ่มเจ้าพระยา เพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ลดลง น้ำเค็มหนุนสูงเร็วขึ้น ได้ขอให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และประปาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมน้ำ กรมน้ำบาดาล ร่วมประเมินสถานการณ์ และหาทางรับมือ 

ส่วนปัญหาน้ำเค็มหนุน กรมชลประทาน จะเร่งผันน้ำแม่กลอง มาเจือจางทำให้ค่าความเค็มของลำน้ำต่างๆ ในลุ่มเจ้าพระยาดีขึ้น โดยสูบน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ป้องกันผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนการเพาะปลูกพืชช่วงหน้าแล้งปี 2562/63 จะเน้นปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น ไม่ส่งเสริมการทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี