23 ธันวาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเกี่ยวกับประสิทธิผลของการนวดกดจุดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าวิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในช่วงฤดูหนาว คือการนวดที่บริเวณจุดกดหรือจุดฝังเข็ม 3 จุดที่บริเวณมือและข้อมือ ได้แก่ เน่ยกวาน (Neiguan – PC6) เหลากง (Laogong – PC8) และ เสินเหมิน (Shenmen – HT7) หากกดลง 3 จุดนี้แล้วไม่รู้สึกเจ็บ แสดงว่าสุขภาพหัวใจแข็งแรง แต่หากรายใดมีอาการเจ็บเมื่อถูกกดที่ 3 จุดนี้ แสดงว่ามีปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน
บทสรุป :
1.ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนจีนยืนยันว่า ความรู้สึกเจ็บเมื่อถูกกดที่จุด ไม่ใช่ตัวบ่งชี้อาการลิ่มเลือดอุดตัน
2.ส่วนการกดจุดจนไม่รู้สึกเจ็บ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาลิ่มเลือดอุดตันหายไปอีกเช่นกัน
3.โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในหน้าหนาว มีปัจจัยจากการสัมผัสกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ความรู้สึกเจ็บเมื่อถูกกดที่จุด ไม่ใช่ตัวบ่งชี้อาการลิ่มเลือดอุดตัน
หวังซินหยี่ ผู้อำนวยการคลินิกแพทย์แผนจีนชุนเชียนถังในไต้หวัน อธิบายว่า จุดกดในตำแหน่งเน่ยกวาน เหลากง เสินเหมิน เป็นจุดที่มีประสิทธิผลในการบำรุงหัวใจ และเป็นจุดที่หาได้ไม่ยาก จึงเหมาะกับการกดจุดเพื่อเสริมสร้างพลังลมปราณ (Qi) ในชีวิตประจำวัน
เน่ยกวาน ช่วยในการหายใจและการหมุนเวียนของเลือด
เหลากง ช่วยในการหายใจและลดอาการแน่นหน้าอก
เสินเหมิน ช่วยให้ผ่อนคลาย แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ
หวังซินหยี่ ย้ำว่านอกจากการกดจุดแล้ว การกินอาหารครบ 5 หมู่ นอนหลับให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส คือวิธีหลีกเลี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน
ส่วนคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า หากกดลง 3 จุดนี้แล้วไม่รู้สึกเจ็บ แสดงว่าสุขภาพหัวใจแข็งแรง แต่หากมีอาการเจ็บแสดงว่ามีปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน หวังซินหยี่ ชี้แจงว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินจริงและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน
หวังซินหยี่ ระบุว่าการกดจุดจะทำให้ผู้ถูกกดมีอาการเจ็บไม่มากก็น้อย ไม่ว่าสุขภาพหัวใจของผู้ถูกกดจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ดังนั้นหากรู้สึกเจ็บเมื่อถูกกดจุด ไม่ได้หมายความว่าผู้รับการกดจุดมีปัญหาสุขภาพหัวใจแต่อย่างใด
หรือการกดจุดจนไม่รู้สึกเจ็บ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาลิ่มเลือดอุดตันหายไปอีกเช่นกัน
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มัจจุราชในหน้าหนาว
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นภาวะที่เกิดการปริแตกบริเวณผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและขาดออกซิเจน อาการที่พบมากที่สุด คือ เจ็บอกหรือแน่นหน้าอกซึ่งอาจร้าวไปไหล่ แขน หลัง คอหรือกราม
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันเลือดสูง คอเลสเทอรอลในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงยังรวมถึงการสัมผัสกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เฉินกวนฉิน แพทย์ประจำแผนกโรคหลอดเลือดหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเจิ้นซิ๊งในไต้หวัน อธิบายว่า ในช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิที่แตกต่างระหว่างอยู่ในอาคารและนอกอาคาร ส่งผลให้ความดันเลือดขึ้นลงผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ โดยมักจะพบในผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงในอายุมากกว่า 55 ปี
สัญญาณเตือนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่อาการแน่นหน้าอกระหว่างทำกิจกรรม เช่น ขึ้นบันได รวมถึงอาการชาบริเวณแขนข้างซ้าย เป็นสัญญาณเตือนว่าช่องว่างในหลอดเลือดมีขนาดแคบลง และควรรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนภายในเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้หัวใจขาดออกซิเจนนานเกินไป หากรักษาเร็วโอกาสหายก็มีสูง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/10228
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter