วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้
สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์
ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง
ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์
เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้
นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 ครั้ง
ทรัมป์ไม่ต้องการให้รัฐบาลสมัยที่ 2 ของเขาติดปัญหาเพดานหนี้ เพราะต้องการสานต่อนโยบายลดภาษีจากรัฐบาลสมัยแรก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า นโยบายลดภาษีอาจทำให้รัฐบาลกลางมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 138 ล้านล้านบาท) ในช่วงทศวรรษหน้า จากหนี้ปัจจุบันที่ 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,245 ล้านล้านบาท)
หนี้สาธารณะของสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) นับจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 32 เมื่อเดือนตุลาคม 2544 และเมื่อปี 2566 รัฐสภาได้ทำข้อตกลงให้ระงับการใช้เพดานหนี้ไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2568
สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันเคยตั้งเงื่อนไขจะขยายเพดานหนี้แลกกับการที่รัฐบาลต้องตัดลดงบประมาณมาแล้วหลายครั้ง โดยทำไม่สำเร็จในปี 2538 และ 2539 ทำให้ต้องชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลกลางบางส่วน และทำสำเร็จหลีกเลี่ยงการขัตดาวน์ได้ในการเผชิญหน้าปี 2554 ที่ทำให้สหรัฐเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้และถูกลดอันดับเครดิตประเทศจากระดับสูงสุดเป็นครั้งแรก
ผลกระทบจากชัตดาวน์
ข้อมูลของบริการวิจัยรัฐสภาสหรัฐระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2524 สหรัฐเกิดการชัดดาวน์แล้วทั้งหมด 14 ครั้ง ส่วนใหญ่กินเวลาเพียง 1 วัน ชัตดาวน์ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก กินเวลานานที่สุดถึง 35 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2562 เนื่องจากเขาและรัฐสภาตกลงกันไม่ได้เรื่องความมั่นคงพรมแดน
การชัตดาวน์ทำให้คนทำงานในหน่วยงานรัฐบาลกลางต้องลาพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ส่วนงานที่จำเป็นยังต้องทำโดยไม่ได้รับค่าจ้างเช่นกัน หากชัตดาวน์เพียงไม่กี่วันย่อมมีผลกระทบเล็กน้อย แต่หากชัตดาวน์ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง สำนักงบประมาณรัฐสภาประเมินว่า การชัตดาวน์ครั้งหลังสุดสร้างความเสียหาย 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 103,720 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของจีดีพี ครั้งนั้นมีคนทำงานในหน่วยงานรัฐบาลกลางต้องลาพักงานประมาณ 800,000 คน จากทั้งหมด 2.2 ล้านคน.-814.-สำนักข่าวไทย