กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – “เฉลิมชัย” ยืนยันไม่ได้ลงนามหนังสือส่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชี้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรไม่ว่ามติจะออกมาอย่างไร โต้ไม่ได้หักหลังและขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข่าวลงนามเอกสารส่งถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายจนเป็นผลให้มติเปลี่ยนแปลงจากวันที่ 22 ตุลาคมนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ลงนามในเอกสารใด ๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งหนังสือที่จะต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้รับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกรก็ยังไม่ได้ลงนาม เนื่องจากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีไปราชการที่เกาหลี สำหรับการลงความเห็นของกรรมการวัตถุอันตรายที่เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ 4 คนนั้น ไม่ได้ชี้แนะเรื่องใด ๆ ให้เป็นดุลพินิจของแต่ละคน โดยพิจารณาจากข้อมูลของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ที่มีการกล่าวหาว่าใช้กลยุทธ์หักหลังพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ยืนยันไม่ได้หักหลังใคร โดยเฉพาะกับพรรคภูมิใจไทย สนิทสนมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดี นัดรับประทานอาหารด้วยกันบ่อยและหลังจากนี้จะนัดกันอีก
ส่วน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ตนลงนามในหนังสือ อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรเสนอข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รายงาน น.ส. มนัญญา ซึ่งกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า คงไม่ต้องทำความเข้าใจอะไร เพราะเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว การเป็นรัฐมนตรีต้องทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ได้ติดใจเรื่องอะไร
สำหรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการยกเลิกใช้พาราควอตสารป้องกันกำจัดวัชพืชและคลอร์ไพริฟอสสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชออกไป 6 เดือนนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สารชีวภัณฑ์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืชนั้น กรมวิชาการเกษตรรายงานว่า มีขึ้นทะเบียนแล้ว 73 ชนิด แต่สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชยังไม่มี จึงมอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้จัดทำโครงการนำร่องในสหกรณ์การเกษตรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล โดยจะสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อใช้แทนสารเคมีและแรงงาน ซึ่งวันที่ 10 ธันวาคมนี้จะได้ข้อสรุปว่าสนับสนุนอะไรบ้างและใช้งบประมาณเท่าไร ส่วนไกลโฟเซตสารป้องกันกำจัดวัชพืชที่มีมติให้จำกัดการใช้นั้น จะดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้ใช้ในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดดังกล่าวเท่านั้น ห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ ควบคุมปริมาณการจำหน่าย อีกทั้งเกษตรกร ผู้รับจ้างฉีดพ่น และผู้จำหน่ายต้องได้รับการอบรม เพื่อใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยสูงสุด
“คณะทำงานซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานมุ่งมั่นหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบทุกด้าน ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น จึงจะปรับแนวทางการทำเกษตรกรรม โดยส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรยั่งยืน” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวถึง รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กรรมการวัตถุอันตรายผู้ทรงคุณวุฒิโพสต์เฟซบุ๊กขอลาออก ว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) กรรมการทุกคนร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยพิจารณาข้อมูลจากตัวแทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเสนอในที่ประชุม เปิดให้นำเสนอข้อมูลอย่างเต็มที่ โดยไม่ปิดกั้น รับฟังและหารือร่วมกันจนถึงขั้นการเสนอมติฯ จากข้อมูล ข้อเท็จจริง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน จากนั้นกรรมการทุกคนร่วมกันร่างมติและเลขานุการฯ เป็นคนพิมพ์มติในห้องประชุม โดยทุกคนสามารถแสดงความเห็นจนได้มติที่คณะกรรมการเห็นว่า เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้และไม่มีใครคัดค้านเลย โดยเฉพาะ รศ. จิราพรนั้น ร่วมแสดงความคิดเห็นและพูดคุยกับฝ่ายเลขานุการร่างมติอยู่ตลอด จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงออกมากล่าวว่าไม่เห็นด้วย หลังจากประชุมเสร็จสิ้นแล้ว
“ยังแปลกใจเลยว่าหลังจากให้ที่ประชุมช่วยกันเสนอมติฯ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คุณจิราพรยังเป็นคนเดินไปให้ฝ่ายเลขาฯ แก้ไขข้อมูล และถามย้ำหลายครั้งว่ามีใครคัดค้านไหม ในห้องไม่มีใครคัดค้าน มีเพียงกรรมการ 3 ท่านที่ขอตั้งข้อสังเกตว่า อยากให้ขยายเวลาการแบนออกไป เพื่อให้กรมวิชาการเกษตร นำข้อมูลเรื่องมาตราการรองรับให้รอบด้านและครบถ้วนกว่านี้ แต่เมื่อออกนอกห้องประชุมทำไมจึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น” นายสุริยะ กล่าว.-สำนักข่าวไทย