กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – คมนาคมลุยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง สนองนโยบายรัฐบาลหลังอัดงบลงทุนทางรางมหาศาล พร้องกางแผน 4 ระยะ ตั้งโมเดลระบุในทีโออาร์ปี 66 ต้องผลิตภายในประเทศเท่านั้น สั่ง ขร. จัด Market Sounding ระดมกึ๋นรัฐ-เอกชน ก่อนทำแผนชัดเจน
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ว่า กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมอื่น ๆ เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งเพื่อความยั่งยืนระบบรางของประเทศ ให้เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้มอบนโยบาย Thai First หรือไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน
นอกจากนี้ ได้มีข้อสั่งการให้ ขร.พิจารณาปรับระยะเวลาดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ให้เร็วขึ้นสอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมทางอากาศ ขณะเดียวกันมอบหมายให้ ขร.ไปจัดสำรวจความสนใจ (Market Sounding) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภายในปีนี้ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ยังให้การบ้านบีโอไอพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ รองรับการลงทุนจากนักลงทุนภายในและจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้กำหนดแนวคิด พร้อมตั้งเป้าหมายแผนดังกล่าว โดยจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างและเปิดประมูลโครงการระบบรางทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ หรือผู้ผลิตที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้นโดยเขียนระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในร่างขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) 2.ภายในปี 2564 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องประกอบชิ้นสุดท้ายในโรงงานภายในประเทศ 3.ภายในปี 2565 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยราคาของมูลค่าชิ้นส่วน (Local Content) จะต้องไม่น้อยกว่า 40% และ 4.ภายในปี 2566 เป็นต้นไป กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องผลิตภายในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลัก ที่เป็นสาระสำคัญ อาทิ ตัวรถ ตู้โดยสาร ห้องควบคุม ระบบช่วงล่าง โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบเชื่อมต่อ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวนั้น เพื่อให้เกิดพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึงมาตรฐานเทคโนโลยี กลไกภาครัฐ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาบุคลากรระบบราง เนื่องจากตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ระยะ 20 ปี (M-Map) ตั้งแต่ปี 2561 – 2580 และแผนการจัดหารถจักรของ รฟท.ปี 2562 มีการประมาณการณ์ความต้องการจำนวนตู้รถไฟในประเทศไทยภายใน 20 ปีข้างหน้ารวมประมาณ 12,000 ตู้ จากปัจจุบัน 3,729 ตู้ โดยต้องวางแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตบุคลากร รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางฯ ต่อไปในอนาคต รวมถึงเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งเสริมการลงทุนของ บีโอไอนั้น จะให้สิทธิพิเศษด้านการยกเว้นภาษีการจัดตั้งโรงงานและสิทธิพิเศษด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาก่อตั้งโรงงานใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น และได้เสนอให้พิจารณาพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี รวมถึงจังหวัดตามแนวเส้นทางระบบรางด้วย
“หลังจากนี้ ขร.จะต้องไปสำรวจความเห็นของภาครัฐและเอกชนว่าทำได้ไหม และให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาดำเนินการ ซึ่งแผนทั้ง 4 ระยะนั้น เป็นตุ๊กตาที่ตั้งไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการสรุป หลังจากสำรวจความเห็นถึงจะทราบว่าแผนจะเป็นอย่างไร จะต้องเอาตัวเลขความต้องการ 12,000 ตู้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนว่าคือสิ่งที่อยากจะมี เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน” นายชัยวัฒน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย