กรุงเทพฯ
4 เม.ย.-ปลัดกระทรวงคมนาคม ถอดบทเรียนสถานการณ์แหกกักตัว “สุวรรณภูมิ” ต้องปรับศูนย์ EOC มีผู้บัญชาการเหตุการณ์เป็นตำรวจ
หรือฝ่ายความมั่นคง ส่วนการประกาศห้ามบินเข้าไทย
3 วัน คาดหลังจากนั้นจะไม่มีสายการบินเข้ามาอีก ตามนโยบายชะลอคนไทยเดินทางกลับจนถึง
15 เม.ย. เผยบุรีรัมย์สั่งฟันแล้ว 1 ผู้โดยสารไม่ร่วมมือกลับมากักตัว
นายชัยวัฒน์
ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงสถานการณ์ที่มีผู้โดยสารกว่า 100 คนเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
เมื่อคืนที่ผ่านมา และปฏิเสธที่จะให้เจ้าหน้าที่กักตัว 14 วัน
ในพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐเตรียมไว้ ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า
จำเป็นต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(EOC) ในส่วนของพื้นที่การคัดกรองด้านใน
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย
เจ้าของพื้นที่ สามารถจัดการดูแลพื้นที่ได้ แต่เมื่อออกมาด้านนอก
ซึ่งจะต้องมีการนำผู้โดยสารไปกักตัวตามมาตรการนั้น
จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารฝ่ายความมั่นคง เข้ามาบัญชาการเหตุการณ์
“โดยส่วนตัวเห็นว่า
ศูนย์ EOC จำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการให้มีการประสานความร่วมมือมากขึ้น และให้มีผู้บัญชาการเหตุการณ์
เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง เพื่อการทำงาน การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลในทางปฏิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น ย้ำให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้โดยสารที่เดินทาง
ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การป้องกันการระบาด โรคCOVID-19 ประสบผลสำเร็จ” นายชัยวัฒน์กล่าว
ส่วนประเด็นที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
หรือ กพท. มีการออกประกาศไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์ จากต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเป็นเวลา
3 วัน จากวันที่ 4- 6 เมษายนนี้ แนวปฏิบัติหลังจากครบกำหนดจะต้องดำเนินการอย่างไรนั้น ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ประกาศของ กพท.ที่ออกมา
ได้ก็เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งถือว่าเป็นผู้โดยสารที่เรียกว่า
ค้างท่อ ที่ได้รับเอกสารเดินทางก่อนหน้านี้ แต่ทั้งหมดก็ต้องเข้ามาตรการการกักตัว
14 วัน ส่วนหลังจากนี้สถานทูตในต่างประเทศ ไม่ได้มีการออกเอกสารรับรองให้เดินทาง
ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563
ในระหว่างนี้ก็เชื่อว่าจะไม่มีเที่ยวบินหรือผู้โดยสารที่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยจากต้นทางได้อยู่แล้ว
นายจุฬา
สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงาน กพท. กล่าวว่าก่อนการประกาศห้ามเครื่องบินเข้าไทยเป็นเวลา 3 วัน จะมีเที่ยวบินเข้าไทยประมาณวันละ 20-25 เที่ยวบิน
โดยในจำนวนนี้เป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) วันละประมาณ 5 เที่ยวบิน ซึ่งหลังจากออกประกาศแล้ว
จะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินที่เข้าไทยไม่มากนัก และการออกประกาศที่ชัดเจน
จะทำให้สายการบินตัดสินใจยกเลิกทำการบินมาไทยชั่วคราว ได้ง่ายขึ้น
ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมโรค
รวมทั้ง
หลังจากที่ กพท.ได้ออกประกาศห้ามเที่ยวบินจากต่างประเทศทั่วโลกบินเข้าไทย
ระหว่างวันที่ 4 – 6 เม.ย.ที่ผ่านมา
ปรากฏว่าหลังเที่ยงคืนที่ที่ผ่านมา (4เม.ย.) มีเที่ยวบิน 1 เที่ยวบิน
จากประเทศอิหร่านบินมาถึงประเทศไทยช่วงเช้าที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเที่ยวบินสุดท้าย
แต่ผู้โดยสารทุกคนจะถูกนำไปกักตัว 14 วัน
และหลังจากนี้จะไม่มีสายการบินใดบินเข้ามาอีก
ยกเว้นเที่ยวบินเปล่าที่มีการประสานจากประเทศต้นทาง เพื่อขอเข้ามา นำผู้โดยสารของประเทศนั้นๆกลับออกจากไทย
ซึ่งมีการแจ้งล่วงหน้า และบางส่วนเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
นายจุฬา กล่าวว่า ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (ศบค.) มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ในช่วงนี้จะต้องมีการประเมินผลหลังจากประกาศห้ามเที่ยวบินเข้าประเทศไทยเป็นเวลา 3
วัน ก่อน ส่วนจะต่อหรือขยายเวลาการสั่งห้ามหรือไม่อย่างไร
ต้องรอผลการประเมินในช่วงนี้ก่อน
แหล่งข่าวจาก ศบค.ระบุว่า
การประกาศสั่งห้ามเที่ยวบินบินเข้าประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นการประเมินแผนการรับมือกับการที่จะกำหนดให้ผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องถูกกักตัวไว้ในสถานที่ที่ภาครัฐกำหนดเป็นเวลา
14 วัน หากกำหนดเป็นช่วงเวลานานๆ เช่น 15 วันหรือ 30 วัน
จะเกิดปัญหาการอั้นของผู้โดยสารและทะลักกลับมาในคราวเดียวกันจำนวนมาก ส่งผลต่อการรับมือกับสถานที่ในการกักตัวให้เพียงพอได้ยาก
ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า
หลังจากนี้อาจต้องประสานกับกระทรวงการต่างประเทศในการกำหนดจำนวนผู้โดยสารที่จะบินกลับเข้าไทยในแต่ละรอบ
เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่จะรองรับการกักตัวด้วย
“หลังจากนี้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
จำเป็นจะต้องมีการกักตัวไว้ก่อน 14 วัน เนื่องจากข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุชัดเจนว่า
ผู้ติดเชื้อมาจากกลุ่มที่กลับจากต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนมาตรการที่จะออกมาจะประเมินกับสถานการณ์ในแต่ละวันประกอบการตัดสินใจด้วย
“ แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวด้วยว่า ช่วงก่อนเวลา 18.00 น. วันนี้ เส้นตายให้ผู้โดยสาร 152 รายที่เดินทางออกจากสุวรรณภูมิ รายงานตัวเพื่อกลับมากักตัว 14 วัน พบว่า มีหลายพื้นที่สามารถติดตามตัวได้โดยง่าย
บางพื้นที่ผู้โดยสารมีเจตนาหลบหนีไม่ร่วมมือ เช่นที่ จังหวัดบุรีรัมย์มี 1 ราย
จะถูกดำเนินคดีตามกฏหมายเนื่องจากพบว่าได้กระทำการฝ่าฝืนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เพื่อให้เป็นตัวอย่างในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนอีก 2 รายที่มารายงานตัว พร้อมร่วมมือกักตัว
14 วัน โดยนำตัวไปกักตัวที่
สนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต –สำนักข่าวไทย