กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตอบข้อซักถามผู้แทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ถึงเหตุผลที่ส่งหนังสือสรุปมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งปรับสถานะสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายจนนำไปสู่การยกเลิกใช้ รวมทั้งแจงมาตรการรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานทำหนังสือตอบข้อซักถามของกลุ่มเกษตรกรพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยเอกสารฉบับเต็มของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ลงนามโดย รมว. เกษตรฯ ใช้ประกอบวาระการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จนนำไปสู่การลงมติยกเลิกการใช้สารเคมีตามคำแถลงของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ”
สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นมติของคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่แต่งตั้งตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้แทนภาครัฐ เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้นำเข้าสารเคมี ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งนางสาวมนัญญาได้เสนอมติให้ รมว.เกษตรฯ รับทราบเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ แสดงความโปร่งใสในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่อยู่ที่เกษตรกรหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2562 มาตรการและรายละเอียดเกี่ยวกับสารทดแทนวิธีการทดแทน วิธีการทางเลือก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอให้เกษตรกรไทยปฏิบัติตาม เมื่อมีการยกเลิกการใช้สารเคมี ตลอดจนรายละเอียด ค่าชดเชย หรือมาตรการการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมี แนวทางการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ตลอดจนวิธีการและช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงเนื่องจากเกษตรกรหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรับฟังความเห็นโดยผ่านช่องทางเว็บไซต์
“กลุ่มเกษตรกรขอให้กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายใน 7 วันตามสิทธิ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ที่ว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวโดยสะดวก เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากไม่เห็นด้วยต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตตกต่ำ และรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ” นายสุกรรณ์ กล่าว
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยใช้สถานที่ราชการทั่วประเทศจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและชะลอกระบวนการร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายออกไป จนกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถชี้แจงได้ว่า มีมาตรการรองรับเพื่อเยียวยาเกษตรกร โดยต้องเป็นมาตราการที่เกษตรกรยอมรับ.-สำนักข่าวไทย