นครกวางโจ 21 ต.ค. – ลุ้นกลุ่มซีพีร่วมประมูลสร้างสนามบินอู่ตะเภา หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินนัดสุดท้าย 7 พ.ย. อีอีซีพร้อมมอบพื้นที่ก่อสร้าง หลัง รฟท.ลงนามสัญญาสร้างรถไฟฟ้ากับกลุ่มซีพี 24 ต.ค.
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และพันธมิตร (CPH) แจ้งกำหนดการลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกลุ่มซีพีเนื่องจากเห็นว่าเป็นวันที่มีฤกษ์งามยามดี เมื่อลงนามแล้วขั้นตอนก่อสร้างจะเริ่มเดินหน้าชัดเจน อีอีซีจึงเตรียมการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ทันตามกำหนด นับว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตอีอีซีคืบหน้ามาก ทั้งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน การสร้างสนามบินอู่ตะเภา จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับแผนก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้นำเอกสาร 2 กล่องเข้ามาพิจารณาร่วมในขั้นตอนการประมูลหรือไม่ จากเอกสารทั้งหมด 10 กล่อง แต่กลุ่มซีพีส่งเอกสารมาให้คณะกรรมการคัดเลือกล่าช้าไม่ทันกำหนด 2 กล่อง คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาแล้วระบุว่ารับได้เพียง 8 กล่อง อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดระบุว่าให้นำเอกสาร 2 กล่องกลับเข้ามาพิจารณาได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงเตรียมออกนั่งบัลลังก์พิจารณาตัดสินวันที่ 4 หรือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 การพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายกรณียื่นประมูลก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา นับว่ากลุ่มซีพียังอยู่ในขั้นตอนการเสนอราคาก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการร่วมการประมูลได้ หากรายใดชนะประมูลเดินหน้าก่อสร้างสนามบินต่อ หากศาลตัดสินว่าซีพีเข้าร่วมไม่ได้ถือว่าซีพีสอบตก จะเหลือเอกชน 2 รายเข้าร่วมการประมูล เมื่อนำเอกสารมาร่วมพิจารณาด้วยกันทั้งหมด
ทั้งนี้ คาดว่าใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวจะเสร็จ เมื่อเอกชนทุกรายผ่านการพิจารณาทางเทคนิค คุณสมบัติถูกต้องร้อยละ 80 จะร่วมแข่งขันประมูลราคาได้ คาดว่าปลายเดือนพฤศจิกายนจะลงนามร่วมกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลได้ เนื่องจากอัยการร่างสัญญาเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว ยอมรับว่าการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาไม่น่าห่วงมากเท่ากับการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างกรุงเทพฯ ชั้นใน และจุดตัด 230 จุด ต้องรีบแก้ไข โยกย้าย และภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างหลัก ส่วนสนามบินอู่ตะเภาเป็นพื้นที่ว่างเปล่า 6,500 ไร่ในพื้นที่เดียวกัน มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท สามารถส่งมอบได้ทันที และการสร้างสนามบินเป็นการลงทุนของภาคเอกชน จึงไม่น่าห่วงเรื่องแผนก่อสร้าง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่ากรณีศาลให้ทุเลาการบังคับด้วยการให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ ยอมรับเอกสารซอง 2 กล่องที่ 6 และซอง 3 กล่องที่ 9 ของกลุ่มซีพีและพันธมิตรเอาไว้พิจารณา เนื่องจากเป้าหมายหลักของการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 ทุกโครงการเป็นต้นไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ จึงต้องเปิดให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม การปฏิบัติต่อผู้ประกอบการเท่าเทียม มีหลักเกณฑ์หลักปฏิบัติต่าง ๆ ที่ชัดเจน และตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน (PPP ) 2562 เงินลงทุนโครงการ ขนาดใหญ่มากกว่า 5,000 ล้านขึ้นไป ให้อำนาจศาลปกครองกำหนดวิธีชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์แก่คู่กรณี เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสำคัญคือรักษาประโยชน์สูงสุดให้รัฐ
เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ย่อมมีการยื่นเอกสารจำนวนมาก ต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนการอ้างว่าการขนเอกสารที่มีปัญหา ผ่านจุดลงทะเบียนช่วงเวลา 15.09 น. เป็นหลักฐานภาพนิ่งที่ปรากฎออกมาหลังจากวันปิดรับซองแล้ว และศาลพิจารณาว่าเวลา 15.09 น. ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เอาไปใช้พิจารณาว่า เกิดข้อบกพร่องในการยื่นซอง “คำสั่งไม่รับพิจารณาเอกสารของกลุ่มซีพีจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพื่อมีการแข่งขันที่เป็นธรรม และเมื่อศาลสั่งให้คุ้มครอง ไม่ได้เป็นการทำให้เกิดอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐแต่อย่างใด จึงเห็นควรให้มีการคุ้มครองชั่วคราว โดยให้รับเอกสารซอง 2 กล่องที่ 6 และซอง 3 กล่องที่ 9 เปิดและพิจารณาตามขั้นตอน
สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์คอนซอร์เตียม มี บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 80 บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็นร้อยละ 10 และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียร้อยละ 10 และมีกลุ่ม บจ.GMR Group Airport ประเทศอินเดียบริหารสนามบินร่วมด้วย.- สำนักข่าวไทย