กรมส่งเสริมสหกรณ์ 1 ต.ค. – เกษตรฯ ชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดันกลไกสหกรณ์เข้มแข็งดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมหาช่องทางเพิ่มรายได้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในงานครบรอบ 47 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมให้แนวทางการปฏิบัติงาน โดยขอให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมงานสหกรณ์ ทรงให้ความสำคัญกับงานสหกรณ์เป็นอย่างมาก เพราะสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีความสำคัญช่วยดูแลเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเน้นให้สหกรณ์ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และกำลังประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อหาช่องทางตลาดให้กับสหกรณ์ หากสามารถทำให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มจากการค้าขายและการทำธุรกิจจะส่งผลดีกลับไปยังเกษตรกรที่เป็นสมาชิกด้วย
“นโยบายสำคัญรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้สหกรณ์เข้มแข็งมีส่วนช่วยเหลือการสร้างอาชีพรายได้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคง ช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่รักอาชีพเกษตรกรรมไม่ทิ้งถิ่นฐาน และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ผลักดันการเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของตลาด สามารถพัฒนาการขายผ่านช่องทางเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ออนไลน์ ส่วนแนวปฎิบัติของปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์จะมุ่งเน้นการยกระดับให้สหกรณ์ทั่วประเทศมีมาตรฐานสูงขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องการแบ่งปันรายได้ที่เกิดประโยชน์ต่อสมาชิก” นางสาวมนัญญา กล่าว
ปัจจุบันไทยมีสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมกันกว่า 8,097 แห่ง เป็นสหกรณ์ภาคเกษตร 4,547 แห่ง นอกภาคเกษตร 3,550 แห่ง สมาชิก 11.6 ล้านคน สมาชิกภาคการเกษตร 6.7 ล้านคน นอกภาคเกษตร 4.9 ล้านคน มีทุนดำเนินการ 3.1 ล้านล้านบาท และปริมาณธุรกิจ 2.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวทางขับเคลื่อนงาน มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิต จะมีการบริหารจัดการแปลงใหญ่ของสหกรณ์แบบครบวงจร ใช้วิทยาการสมัยใหม่ สนับสนุนสหกรณ์ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการแปรรูปผลผลิตของสหกรณ์เพื่อเพิ่มมูลค่า จนได้รับมาตรฐาน GMP มีการเพิ่มศักยภาพการตลาดสินค้าของสหกรณ์ สร้างเครือข่ายกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเริ่มพัฒนาการค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ C0-OP shop ที่กำลังพัฒนา เพื่อให้เป็นช่องทางโปรโมทสินค้าสหกรณ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการและเลือกซื้อสินค้าจากสหกรณ์ต่าง ๆ ได้ จะเริ่มให้มีการบ่มเพาะความรู้ในการค้าผ่านช่องทางดังกล่าว และผลักดันให้เกิดตลาดเกษตรกรในสหกรณ์ตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงจัดตั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ ๆ โดยจะเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผักผลไม้ สินค้าและผลผลิตต่าง ๆ จากสหกรณ์ทั่วประเทศมารวมไว้ให้ผู้บริโภคได้ไปเลือกซื้อได้อย่างสะดวก เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดจำหน่ายผลผลิตและสินค้าของสมาชิกสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย