ก.คลัง 11 ก.ย. – รัฐบาลดึงประชารัฐร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เตรียมนัดประชุมใหญ่ภาคประชาชนทั่วประเทศ 21 ก.ย. หนุนตั้งธนาคารชุมชน เริ่มต้น 2 หมื่นแห่ง เป็นแหล่งทุนชาวบ้าน คาดเสนอ ครม.พิจารณา ก.ย.นี้ ยอมรับบาทแข็งกระทบส่งออก มุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างภูมิคุ้มกันภายในประเทศให้แข็งแรง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมนโยบาย “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อหวังใช้เวลาในช่วงเศรษฐกิจโลกมีปัญหากลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวขุมชนเข้มแข็ง กำหนด 21 กันยายนนี้ นัดประชุมใหญ่ทุกเครือข่ายทั่วประเทศ เมืองทองธานี ทั้ง ธ.ก.ส. ออมสิน กองทุนหมู่บ้าน สภาเกษตรกรทั่วประเทศ นำเสนอมาตรการช่วยเหลือชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ส่งเสริมด้านเกษตรแปรรูป แบงก์รัฐมาช่วยเหลือทั้งความรู้และการเติมทุน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุกหน่วยงานจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกัน ยกระดับฐานราก ทั้งเงินทุน เติมความรู้เข้ามาพัฒนาหวังใช้ด้านการตลาดเป็นตัวนำ การส่งเสริมการผลิตแปรรูป รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ธ.ก.ส.ทำการศึกษาแนวทางดูแลเกษตรกร ผ่านการสร้างเครือข่าย พัฒนาไปสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์ ธนาคารออมสิน ดูแลพ่อค้า แม่ค้า แฟรนไชส์ เพื่อยกระดับกิจการ ผ่านธนาคารประชาชน เงื่อนไขผ่อนเข้าถึงแหล่งทุนและมีความรู้พัฒนากิจการ ขณะที่ สสว. เอสอ็มอีแบงก์ ช่วยเหลือเอสเอ็มอี การท่องเที่ยวชุมชน กรมธนารักษ์ เตรียมพื้นที่เหมาะสมจัดตลาดนัดประชารัฐ เพื่อเป็นช่องทางตลาด โดยวันที่ 21 กันยายนนี้ เมื่อทุกหน่วยงานศึกษาแนวทางช่วยเหลือได้แล้วจะนำมาสรุปร่วมกันเสนอต่อเวทีใหญ่ให้รับทราบ และนำเสนอมาตรการช่วยเหลือให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือนกันยายนนี้
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 78,000 แห่ง ได้จัดอันดับเกรด A จำนวน 20,000 แห่ง เป็นกองทุนหมู่บ้านผลดำเนินการดีเด่น เหมาะในการส่งเสริมและผลักดันให้เป็นธนาคารชุมชนนำร่อง เนื่องจากขณะนี้กฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ธนาคารชุมชน เตรียมบังคับใช้เพื่อให้ธนาคารชุมชนมีสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นช่องทางในการดูแลสมาชิกในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีแบงก์รัฐคอยเป็นพี่เลี้ยงเติมทุนและความรู้บริหารจัดการให้เป็นระบบ
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและทำงานประสานกับกระทรวงการคลังให้สอดคล้องกัน ยอมรับว่าภาคส่งออกย่อมได้รับผลกระทบ แต่หลายประเทศต่างมีปัญหาเช่นเดียวกัน ไทยจึงต้องเน้นการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันในประเทศรองรับปัจจัยภายนอกในระยะยาว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง จึงมีความจำเป็นในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย