วปอ. 8 พ.ย.- นายกฯ ยันรัฐบาลเร่งตั้งคณะกรรมการ JTC หารือเส้นเขตแดน MOU44 และพลังงานใต้ทะเล คาด 18 พ.ย.นี้ชัดเจน “ภูมิธรรม” มั่นใจ กัมพูชายึดตามสนธิสัญญาเจนีวา แม้ไม่เข้าร่วม ย้ำมีผลผูกพันทุกประเทศทั่วโลก
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น MOU 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาบริเวณเกาะกูด ว่าในเรื่องของตัวกฎหมายเอง มันยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เราก็ยึดหลักนี้อยู่ เพราะเป็นหลักของการเปิดเสรีในการเจรจาเพื่อให้มีการเจรจาทั้งไทยและกัมพูชา ซึ่งมีการตกลงกันเพื่อจะมีการเจรจา ส่วนเรื่องการจะถูกฟ้องหรือโดนฟ้องหรือไม่นั้น เกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมากหากจะยกเลิก ถามว่ายกเลิกเพื่ออะไรและทำไม ถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่พวกเราคนไทยทุกคนต้องคิดในเรื่องนี้ ว่าถ้ายกเลิกจะมีผลอย่างไรระหว่างประเทศ ลองคิดในกรอบง่ายๆ สมมุติว่าเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกันมา ก็ต้องตกลงกัน โอเค ว่าทำได้แต่มันไม่ควรที่จะยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะมันจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันก่อนจึงต้องขอเวลาสักเล็กน้อย เพื่อจะคุยกันจริงๆไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ เพราะมีโอกาสได้เจอกับผู้นำกัมพูชาที่ไปประชุมจีเอ็มเอสที่ผ่านมาไม่มีอะไรเลย ซึ่งทางกัมพูชายังบอกเลยว่ามีอะไรให้กัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยหรือไม่ ขอให้บอกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้กับประชาชนเข้าใจมากกว่า ว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร จึงขอเน้นย้ำเรื่องนี้อีกรอบ
นายกฯ ระบุอีกว่า การขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน จึงเกิด MOU 44 ขึ้นซึ่งตอนนี้รัฐบาลอยู่ในขั้นตอนที่ว่า การตั้งคณะกรรมการเจทีซี ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ตนกลับมาจากเอเปค ประมาณวันที่ 18 พ.ย. กอ้นที่จะนำเรื่องเข้า ครม. การตั้งคณะกรรมการก็น่าจะสำเร็จ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้บอกกัมพูชาไปแล้วว่าการตั้งคณะกรรมการจะเสร็จสิ้นน่าจะประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางกัมพูชาก็โอเค และจะคุยกันทุกอย่างผ่านคณะกรรมการฯ
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า MOU44 ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องพูดคุยหารือกันในสภาก่อนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามันสมบูรณ์แล้ว ถูกหรือไม่ ขอให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ข้อมูลเรื่องข้อกฎหมายเพื่อความชัดเจน
โดยนายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า MOU44 นี้ เป็นข้อที่ได้พูดคุยเพื่อให้ทุกคนเป็นข้อตกลงกันเรื่องการขยายไหล่ทวีปมาโดยไม่จำเป็นต้องเข้าสภา แต่หากมีการตกลงกันเรียบร้อย หากจะต้องมีสนธิสัญญาจะต้องนำเรื่องเข้าสภาอีกครั้ง อันนี้ถือเป็นความสมบูรณ์ในตัวมันเองแล้วเป็นข้อตกลงร่วมกัน เรื่องการประกาศเขตแดนของกัมพูชาเมื่อปี 2515 และของไทยประกาศปี 2516 ต่างฝ่ายต่างมีเส้นอยู่ MOU จึงมาตกลงกันว่าอยู่ตรงไหน ยังไม่จบเรื่องอธิปไตย
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า MOU นี้ไม่ได้เป็นตัวชี้ ว่าเป็นของฉันหรือของเธอ แต่เมื่อของเราไม่เหมือนกัน เราต้องพูดคุยกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เพราะตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้ามีข้อตกลงเพิ่มเติม จึงต้องตั้งคณะกรรมการคุยกันต่อให้เป็นกิจลักษณะ เรื่องการขีดเส้นแบ่งเรียบร้อยแล้ว ค่อยนำเรื่องเข้าสภา
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแต่ไทยเราจะยึดหลักอะไร เพราะไทยอยู่ในสนธิสัญญากฎหมายทางทะเลของอาเซียน แต่กัมพูชาไม่ได้อยู่ จะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า สนธิสัญญาที่เจนีวาประกาศทางทะเล ไม่ว่ากัมพูชาจะเข้าหรือไม่ก็ต้องยอมรับสนธิสัญญานี้ เพราะฉะนั้นในการเจรจาทั้งหมดจะต้องอยู่ในกรอบนี้เพราะถือว่ากรอบดังกล่าว ครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลยซึ่งในสนธิสัญญานี้ได้พูดชัดเจนและได้แสดงออกชัดเจนว่า เป็นสนธิสัญญา เป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อจะเจรจา เรื่องเขตแดนโดยสันติ วัตถุประสงค์และเป้าหมายมีแค่นี้เอง หลังจากคุยกันแล้วถ้าได้ผลอะไรก็มาว่ากันอีกที ต้องรีบตั้งคณะกรรมการของเราก่อน ซึ่งทางกัมพูชามีคณะกรรมการอยู่แล้ว เมื่อตั้งเรียบร้อยก็จะเริ่มมีการเจรจากันซึ่งมี2 ส่วนที่ผูกพันกันคือผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดนที่ชัดเจน
ทั้งนี้ดูเหมือนว่าทางพรรคพลังประชารัฐก็จะนำเรื่อง MOU44 ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรจะชะลอเรื่องนี้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเข้าใจซึ่งเราสามารถชะลอได้เลย แต่ที่เราต้องมีคือคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นทางกัมพูชาก็จะไม่ทราบว่าจะคุยอย่างไร มันก็จะเป็นหลักฐานในการพูดคุย การตั้งคณะกรรมการเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องเร่งในเรื่องเดียวคือการตั้งคณะกรรมการ ส่วนในเนื้อหาข้างในยังไม่ต้องเร่ง ซึ่งทางกัมพูชาก็พูดเช่นเดียวกันว่าไม่มีอะไรเลยแต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการให้เสร็จก็จะง่ายขึ้นทุกอย่างจะถูกตรวจสอบและพูดคุยกันทั้ง2 ประเทศจะเกิดความแฟร์ เกิดความเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เราต้องคุยทั้งสอง ซึ่งคณะกรรมการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นสิ่งที่ต้องเร่งมากที่สุด
ส่วนที่กองทัพเรือเผยแพร่คลิป เส้นเขตแดนของเกาะกูดของไทยแต่ 200 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูดนั้นจะมีปัญหาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เป็นปัญหา ซึ่งจะให้ทางเลขาส่งแผนที่ไปให้สื่อมวลชน จะได้เห็นความชัดเจนเรื่องการแบ่งเส้นแดนของกัมพูชาขีดเส้นเมื่อปี 2515 กับที่ไทยขีด 2516 ไม่เหมือนกัน โดยกัมพูชาขีดเส้นอ้อมเกาะกูดชัดเจนดังนั้นเกาะกูด จึงไม่อยู่ในนิโคลซิเอชั่น(การเจรจาต่อรอง) นี้เลย ทางกัมพูชาจึงไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้เลย เพราะเกาะกูดเป็นของเราอยู่แล้ว เมื่อกัมพูชาเห็นก็ไม่อยากมีปัญหาได้ขีดเว้นและอ้อมเกาะกูดของเราไว้ชัดเจน เรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน ไม่มีจริงๆ เป็นในลักษณะถ้วยขนมครกเลย
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จำเป็นต้องให้เรื่องในสภาพูดคุย MOU 44 ให้ชัดเจนก่อนที่จะเจรจาผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวกับปิโตรเลียมและพลังงานใต้ทะเลใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ใช่ ต้องให้ชัดเจนก่อนเราจะไม่สามารถทำไปได้เลยเพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างประเทศจะไม่เกิดปัญหา ส่วนด้านล่างเป็นของมาเลเซียก็พูดคุยกันได้ ตกลงกันเข้าใจ .314.-สำนักข่าวไทย