สำนักข่าวไทย 21 ส.ค.-มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ออกจดหมายเปิดผนึก ขอบคุณรัฐบาลที่คงนโยบายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า แจง10 ข้อที่ควรควบคุม
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันที่จะคงนโยบายการห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ในฐานะผู้ติด ตามข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องขอเสนอสถานการณ์ล่าสุดที่สนับสนุนว่าการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้วางอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ดังนี้
1.บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะมีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาก็จริง แต่ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวยังไม่มีใครทราบเพราะเพิ่งใช้กันมาประมาณ 10 ปี แต่ยิ่งเวลาผ่านไป รายงานการวิจัยที่พบอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งมีมากขึ้นตลอดเวลา ทั้งต่อผู้สูบเองและบุคคลใกล้ชิด
2.ผู้สูบบุหรี่ที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป ที่เรียกว่า Dual user มีส่วนน้อยที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
3.องค์การอาหารและยา (FDA) อเมริกายังไม่รับรองว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่เพียงพอ
4.หลักฐานมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ขณะนี้ผู้สูบบุหรี่ที่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกสูบ กลับเลิกสูบบุหรี่ได้น้อยกว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ
5.หลักฐานมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า วัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ แล้วเริ่มต้นด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ติดตามต่อมาพบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะหันไปสูบบุหรี่ธรรมดาสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
6.รายงานล่าสุดพบว่า ในคนที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วมากกว่า 5 ปีขึ้นไป เมื่อกลับไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสาเหตุที่ทำให้กลับไปสูบบุหรี่ธรรมดาใหม่ ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับไปสูบบุหรี่ธรรมดาใหม่ 5 ถึง 7 เท่า
7.บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ต่างหันมาทำบุหรี่ไฟฟ้าออกขาย มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า และทำการตลาดพุ่งเป้าไปที่เยาวชน
8.บริษัทบุหรี่ข้ามชาติฯ ที่ขายบุหรี่ในประเทศไทย ซึ่งได้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าออกขายด้วย ประกาศจะให้ทุน The Foundation for a Smoke-Free World ปีละ 80 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) ต่อปี เป็นเวลาติดต่อกัน 12 ปี เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น ที่มีคนบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า หรือช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ต้องดูว่างานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งใด ใครเป็นผู้ให้ข้อมูล
9.เมื่อ 4 ปีก่อนที่ประเทศไทยห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ทั่วโลกมีประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ประมาณ 10 ประเทศ แต่ปัจจุบันนี้มีประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 ประเทศ เฉพาะในอาเซียนมี ไทย ลาว กัมพูชา บรูไน และสิงคโปร์ ซึ่งแนวโน้มจะมีประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลไม่สามารถควบคุมการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน
10.นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ ย่อมขึ้นกับสภาวะและปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ ประเทศต่างๆในโลก จึงมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การห้ามขาย การให้ขายเป็นผลิตภัณฑ์ยา เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความรื่นรมย์
‘สรุปคือบุหรี่ไฟฟ้า อาจจะมีข้อดี คือทำให้ผู้สูบบุหรี่ธรรมดาส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งบางคนอาจจะเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ข้อเสียคือทำให้เยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่เข้ามาเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก และส่วนหนึ่งพัฒนาต่อไปสูบบุหรี่ธรรมดา และทำให้ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้แล้ว กลับมาสูบบุหรี่ใหม่ คำถามขณะนี้คือการเกิดขึ้น และมีอยู่ของบุหรี่ไฟฟ้า สุดท้ายแล้วจะทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น หรือลดลง และจะส่งผลต่อการสาธารณสุขของประเทศในภาพรวมในทางบวกหรือลบ ยัง ไม่มีคำตอบ แต่ที่แน่ๆคือจะมีเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ เข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้า ดูเฉพาะที่อเมริกาข้อมูลปีที่แล้วมีนักเรียนชั้นมัธยมสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.6 ล้านคนทั้งที่เด็กนักเรียนเหล่านี้ไม่ได้สูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว จากหลักฐานขณะนี้ในภาพรวมบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียมาก กว่าผลดี ประเทศไทยจึงควรห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรี ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อการสาธารณสุขของประเทศแล้ว’ ศ.นพ.ประกิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย