กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – กรมชลประทานห่วงใยสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยาจากฝนทิ้งช่วง กำชับชลประทานทุกแห่งจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ที่ 14.85 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) ซึ่งระดับที่เหมาะสมควรไม่ต่ำกว่า 15.00 เมตร รทก. ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีฝนตกในลุ่มเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างมา 3 สัปดาห์ อีกทั้งน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง มีแต่การระบายออกจากอ่าง เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม น้ำที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาจึงมีปริมาณน้อยลง โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีความสัมพันธ์กับการจัดสรรน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำ หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำจะทำให้การไหลของน้ำเข้าสู่คลองชลประทานต่าง ๆ น้อยกว่าปกติ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ท้ายเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำตามรอบเวร เช่น ลำน้ำปิงไหลผ่านจังหวัดตากและกำแพงเพชรให้สูบน้ำปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มายังเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทไม่ลดจนเกินไป
นายสุรชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ที่ต้องดูแลใกล้ชิด คือ ลุ่มรับน้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ซึ่งน้ำไหลเข้าคลองน้อยกว่าปกติ แต่คลองยาวถึง 104 กิโลเมตร จากอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทถึงอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่เกษตร 250,000 กว่าไร่นั้น แปลงนาที่อยู่ท้ายคลองซอยอาจได้รับน้ำไม่เพียงพอ จึงให้เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา-ท่าโบสถ์ไปติดตามการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณด้านท้ายของคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์ โดยการสูบน้ำจากลำห้วยโตนดและคลองระบาย 3 ขวา – 1 ขวา (บึงกระจับ) ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลองม.-ก.) พร้อมกับสูบน้ำจากปลายคลอง ม.-ก. (ก.ม.47+290) ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
“การส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 12 ยังสามารถบริหารจัดการให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้มีนาข้าวเสียหาย แต่เกษตรกรต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและรักษากติกาสูบน้ำตามรอบเวร ส่วนการป้องกันความขัดแย้งจากการแย่งน้ำทางชลประทานได้ให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง และทหารเข้ามาช่วยดูแลด้วยเพื่อให้ทุกคนได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายสุรชาติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย