กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – นายกฯ ห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่ง รมว. เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงช่วยเกษตรกร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเกษตรกรและประชาชน จึงสั่งการมายังนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ปัจจุบันตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย กระจายทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 3 หน่วย คือ เชียงใหม่ ตาก และพิษณุโลก ภาคกลาง 2 หน่วย คือ ลพบุรีและกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมาและ สุรินทร์ ภาคตะวันออก 1 หน่วย คือ สระแก้ว และภาคใต้ 1 หน่วย คือ สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ นายกฤษฎา เน้นย้ำให้ปฏิบัติการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงทำฝนให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ที่ต้องการฝน โดยยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อดัดแปรสภาพอากาศให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งต้องใช้ข้อมูลประกอบการขึ้นปฏิบัติการจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องมีมากกว่า 60% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศที่เหมาะสมต้องมีค่าน้อยกว่า -2.0 และค่าความเร็วลมที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องน้อยกว่า 36 กม./ชม.
สำหรับผลปฏิบัติการฝนหลวง ล่าสุดสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี กาญจนบุรี หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญและพัทลุง นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง
นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า ได้วางแผนปฏิบัติการให้สอดรับกับรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ประกาศพื้นที่ภัยแล้งรวม 7 อำเภอ 32 ตำบล 225 หมู่บ้านในจังหวัดตาก ศรีสะเกษ และมหาสารคาม ส่วนชลบุรีประกาศยกเลิกเขตพื้นที่ภัยแล้งแล้ว ขณะที่การทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำนั้น เร่งปฏิบัติการตามที่กรมชลประทานประสานขอความร่วมมือทำฝนบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 15 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 133 แห่ง เพิ่มขึ้นมา 1 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านแผนที่ปริมาณความชื้นในดินของกรมทรัพยากรน้ำพบว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีความชื้นในดินน้อยกว่าพื้นที่ภาคอื่น ๆ โดยมีปริมาณค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 0-20% ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนมีค่าปริมาณค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 20-40% สำหรับภาคตะวันออกและภาคใต้มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 40-60% ซึ่งจะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
นายสุรสีห์ ย้ำว่า กรมฝนหลวงฯ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ทุกที่ทันทีตามความเอื้ออำนวยของสภาพอากาศ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร.-สำนักข่าวไทย