นนทบุรี 3 ก.ค. – ผู้อำนวยการสถาบันอัญมณีฯ เตือนนักช้อปซื้อสินค้าอัญมณีทางออนไลน์ อย่าหวังของถูกอาจถูกหลอกได้
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณการขายสินค้าผ่านออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคมีการสั่งซื้อจากผู้บริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันพบว่าในช่องทางการซื้อขายออนไลน์ยิ่งซื้อง่าย โอกาสถูกหลอกก็ง่ายเช่นกัน ดังนั้น การซื้อขายออนไลน์จะต้องระวังกันให้มากขึ้น เพราะข้อมูลที่มีการเสนอขายผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือบอกไม่หมด ยิ่งเป็นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะต้องระวังให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีฯ เห็นมีการนำสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาเสนอขายผ่านทางออนไลน์ เช่น เสนอขาย Natural Colombian Green 7.95-10.95 กะรัต ราคาเพียง 379.20 – 401.98 บาท ถือว่ามีราคาถูกเหลือเชื่อ เพราะมรกตจากโคลัมเบียขึ้นชื่อว่าคุณภาพดีสุด ราคาที่แท้จริงกะรัตจะมีราคาสูงพอสมควรหรืออย่างไพลินใน web เสนอ Natural Blue Sapphire 6-20 กะรัต ราคา 614.32 บาท แถมยังฟรีค่าขนส่งอีกถือว่าถูกมหัศจรรย์ เพราะไพลินธรรมชาติ ราคาตกกะรัตละหมื่นกว่าบาท ซึ่งอัญมณีเหล่านี้ยิ่งคุณภาพดี ประกายสดใสราคาจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาถูกจะจูงใจคนซื้อของในออนไลน์มักจะอุ่นใจและตัดสินใจซื้อได้รวดเร็ว เพราะสามารถคืนของได้ถ้าไม่ถูกใจ แต่เวลาคืนสินค้าจะไม่ได้คืนเป็นเงินสด แต่จะขอคืนในรูปเครดิต หรือให้คนซื้อไปซื้อของชิ้นอื่นแทน โดยสถาบันอัญมณีมีราคาอัญมณีที่ใช้อ้างอิงได้ ซึ่งขนาด 1 กะรัต หากเป็นเพชรธรรมชาติคุณภาพปานกลาง ราคากะรัตละ ประมาณ 150,000 บาทขึ้นไป ส่วนเพชรเลียนแบบ เช่น คิวบิกเซอร์โคเนีย ราคาต่อกะรัตต่ำกว่า 100 บาท
ส่วนทับทิมธรรมชาติคุณภาพปานกลาง ขนาด 1 กะรัต ราคาประมาณ 20,000-30,000 บาท ส่วนทับทิมสังเคราะห์ ราคากะรัตละไม่กี่สิบบาท ส่วนไพลินธรรมชาติ คุณภาพปานกลางขนาด 1 กะรัต ราคาประมาณ 10,000 บาท ส่วนไพลินสังเคราะห์ราคากะรัตละไม่กี่สิบบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แจ้งว่าวันนี้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและสินค้าขายดีที่สุด คือ สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ และไทยโตแรงสุดในอาเซียนปีที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท/เดือน ส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หากสินค้าได้รับการรับรองจากสถาบันอัญมณีฯ มั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือสินค้าที่ได้เข้าร่วมโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) ก็เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและตรวจสอบได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย