กรุงเทพฯ 20 มิ.ย.-รู้จัก “Libra” เงินสกุลดิจิทัลเขย่าโลกรายล่าสุด นักการเงินยอมรับมีสิทธิ์เป็นเงินสกุลหลักของโลกได้ไม่ยาก หากพิสูจน์ความปลอดภัยได้
หลังจากมีการประกาศข่าวใหญ่จาก Facebook และบริษัทอีกไม่น้อยกว่า 27 แห่ง เช่น Visa, MasterCard, Uber, PayPal, Spotify, eBay, Vodafone เพื่อกำเนิดสกุลเงินดิจิทัลใหม่ Cryptocurrency มีชื่อว่า “Libra” ที่จะเริ่มใช้ในต้นปี 2563 ส่งผลให้สะเทือนถึงสถาบันการเงินทั่วทั้งโลก และเป็นที่จับตามองของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจุดประสงค์เพื่อสร้างให้มีโครงสร้างระบบการเงินขั้นพื้นฐานที่ทุกคน ๆ ในโลกนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และจะเป็นระบบทางการเงินที่มีต้นทุนต่อผู้ใช้ถูกที่สุด มีความปลอดภัยสูงสุดเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเท่าที่เทคโนโลยีวันนี้จะมีได้ เช่น ใช้ Technology Blockchain มาเป็นตัวกลาง
การกำเนิดของ Libra เริ่มจากแนวคิดที่ว่า ปัญหาผู้คนทั่วโลกในปัจจุบัน 1,700 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงธนาคารในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ขณะที่ผู้คนเข้าถึงสมาร์ทโฟนมากกว่าและ คนที่มีเงินน้อยกลับมีต้นทุนสูงในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าโอน ค่าบัตร ATM โดยที่ Blockchain และ Cryptocurrency มีคุณสมบัติที่จะมั่นใจได้ว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถมีอำนาจควบคุมระบบทั้งหมด แต่ปัจจุบันด้วยความผันผวน และยังไม่เข้าสู่คนจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้ รวมไปถึงปัญหาที่สำคัญคือบางสกุลเงินมีจุดมุ่งหมายที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ทำให้เกิดปัญหาการฟอกเงิน
Libra จึงเกิดขึ้นจากการร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการตรวจสอบ จะทำให้ระบบมีความยั่งยืน และสามารถเชื่อมต่อกับระบบการเงินทั่วโลกได้ สกุลเงินนี้จะไม่เหมือนกับ สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ตรงที่ Libra จะเน้นเป้าหมายของการถือครองเงินสกุลนี้ระดับ “พันล้านคน” โดย
1.Libra จะถูกสร้างอยู่บน Blockchain ที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และสามารถรองรับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากระดับพันล้านคนได้
2.Libra จะถูกค้ำโดยเงินสำรอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง โดยไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่เป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เงินฝากธนาคาร และ พันธบัตรรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดมูลค่าในตัวมันเอง
3.Libra จะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานอิสระชื่อ Libra Association ผ่าน Founding Members ในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยตอนแรกจะเริ่มจาก 27 หน่วยงาน
นายศรชัย สุเนต์ตา CFA ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ SCB Investment Advisory, CIO office กล่าวถึงสกุลดิจิทัลใหม่ “Libra” ว่า เป็นเรื่องที่ทุกวงการจำเป็นต้องให้ความสนใจและปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะสกุลเงิน “Libra” แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ทั้งจากความน่าเชื่อถือที่มีสินทรัพย์มาหนุนหลัง และเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคง ไม่ผันผวน ที่สำคัญคือเป็นสกุลเงินที่ให้ประโยชน์กับประชาชนทั่วไป ที่จะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงหรืออาจจะไม่มีต้นทุนเลย
นายศรชัยกล่าวอีกว่า หากสกุลเงินใหม่ “Libra” ทำอย่างนั้นได้จริง คาดว่าจะมีผู้ใช้หลายพันล้านคน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “Libra” จะได้รับความนิยมและจะกลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ประเด็นที่อ่อนไหว ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งเงินสกุล “Libra” จะต้องพิสูจน์ตัวเอง คือ เรื่องความปลอดภัย, ระบบที่มั่นคง และความน่าเชื่อถือ ที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังวลอยู่
สำหรับผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ จากการเกิดขึ้นของเงินสกุล “Libra” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารจะต้องหาหนทางในการรักษาฐานลูกค้าของตัวเองไว้ให้ได้ เช่น การหารายได้จากการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนส่วนบุคคล หรืออื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “แม็กซีน วอเตอร์ส” ประธานคณะกรรมาธิการบริหารด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้ “เฟซบุ๊ก” ทบทวนการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล Libra จนกว่ารัฐสภาและหน่วยงานกำกับดูแลได้ตรวจสอบพิจารณาก่อน
ขณะที่ เชอร์ร็อด บราวน์ ส.ว.จากพรรคเดโมแครต แสดงความกังวลผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เฟซบุ๊กมีขนาดใหญ่และทรงพลังมากเกินไป และใช้พลังนั้นในการใช้ประโยชน์จากผู้ใช้งานโดยไม่มีการปกป้องความเป็นส่วนตัว เราไม่สามารถอนุมัติให้เฟซบุ๊กเรียกใช้สกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงโดยไม่มีการกำกับดูแล” มาร์ค วอร์เนอร์ (Mark Warner) วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตชี้ว่า ชาวอเมริกันได้สูญเสียความไว้วางใจของเฟซบุ๊กในการรักษาความเป็นส่วนตัวของพวกเขาไปแล้ว.-สำนักข่าวไทย