สหรัฐ 29 ต.ค. – เฟซบุ๊ก อิงค์ เปลี่ยนชื่อและโลโก้ใหม่ ที่สำนักงานใหญ่ในเมนโล พาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันพฤหัสบดี แทนโลโก้เดิม คือ Like ที่ยกนิ้วโป้ง ด้วยรูปทรงอินฟินิตี้สีน้ำเงิน โดยชื่อใหม่ของเฟซบุ๊ก คือ เมตา (Meta)
ภายใต้การเปลี่ยนชื่อใหม่นี้ สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ของบริษัท รวมทั้ง เฟซบุ๊ก วอตส์แอปป์ (WhatsApp) และอินสตาแกรม (Instagram) จะยังคงใช้ชื่อเดิมต่อไป เช่นเดียวกับโครงสร้างขององค์กรที่จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สัญลักษณ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนเป็น MVRS ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัท เฟซบุ๊ก เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมตา (Meta) ในความพยายามส่งเสริมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality แห่งอนาคต ภายใต้คอนเซปต์ที่เรียกว่า เมตาเวอร์ส (metaverse) ซัคเคอร์เบิร์ก อธิบายว่า เมตาเวอร์ส คือ สิ่งแวดล้อมเสมือน ที่เชื่อมโยงชุมชนเสมือนจริงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้สามารถพบปะกัน ทำงาน เล่น ซื้อของออนไลน์ หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง และเทคโนโลยีเสริมจริง รวมทั้งแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ และว่าชื่อ Facebook ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทุกอย่างที่ทางบริษัทกำลังทำอยู่อีกต่อไป ซึ่งนอกเหนือจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว เฟซบุ๊กยังมีธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน ซัคเคอร์เบิร์ก พูดถึงการมุ่งหน้าสู่เมตาเวอร์ส ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม และบริษัทแห่งนี้ยังได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี VR และ AR อย่างมาก โดยได้เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ ๆ เช่น หูฟัง Oculus VR ออกมา พร้อมกับเร่งออกแบบอุปกรณ์แว่นตา และสายรัดข้อมือ AR อยู่ด้วย
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก เพิ่งประกาศแผนจ้างงานเพิ่ม 10,000 ตำแหน่ง ในสหภาพยุโรป เพื่อสร้าง metaverse อันเป็นแผนงานที่ ซัคเคอร์เบิร์ก ออกมาโปรโมทด้วยตนเอง ซึ่งเขาเชื่อว่า เมตาเวอร์สจะสามารถไปถึงผู้คนราว 1,000 ล้านคน ภายในทศวรรษหน้า และเชื่อว่าจะช่วยสร้างงานด้านเทคโนโลยีได้หลายล้านตำแหน่งในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้อาจเป็นความพยายามของเฟซบุ๊กในการเบี่ยงประเด็น จากรายงาน Facebook Papers ซึ่งเป็นเอกสารหลายพันหน้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์นี้ที่ถูกรวบรวมจากคนภายในองค์กรและสื่อต่าง ๆ ในสหรัฐ ชี้ถึงความขัดแย้งในบริษัท เและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อการใช้งานของเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ใช้ราว 3,000 ล้านคนทั่วโลก หลังจากอดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก ฟรานเชส เฮาเกน เปิดเผยว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งของเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เฟซบุ๊กเพิกเฉยหรือลดความสำคัญของคำเตือนเรื่องผลกระทบทางลบจากสื่อสังคมออนไลน์นี้ต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหญิง แต่มุ่งเน้นความสำคัญที่ผลกำไรมากกว่า
ขณะที่ ลอร่า รีส ที่ปรึกษาด้านการตลาด เปรียบเทียบการเปลี่ยนชื่อของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ว่า เหมือนกับที่บริษัทพลังงาน BR พยายามปรับชื่อบริษัทเป็น Beyond Petroleum เพื่อหนีจากการถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม. – สำนักข่าวไทย