กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยหนี้ครัวเรือนไทยปี 61 ขยับขึ้นร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี ตามหนี้บ้าน-รถยนต์
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4/2561 มียอดคงค้าง 12.827 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าถึงร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยแม้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ หรืออาจจะมีการใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของแต่ละปีตามผลของปัจจัยด้านฤดูกาลมากกว่าช่วงอื่น ๆ แต่คงต้องยอมรับว่าไตรมาส 4/2561 มีปัจจัยเฉพาะการปรับเกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน หรือมาตรการ LTV ใหม่ ทำให้ครัวเรือนบางกลุ่มเร่งตัดสินใจก่อหนี้ เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการ LTV ใหม่จะมีผลบังคับใช้เดือนเมษายน 2562
สำหรับภาพรวมปี 2561 หนี้ครัวเรือนที่กลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 78.6 ในปี 2561 จากร้อยละ 78.3 ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่ากว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่ครัวเรือนรับภาระเพิ่มขึ้นนั้น ก่อให้เกิดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ และขยายธุรกิจ
ส่วนแนวโน้มปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2562 อาจทรงตัวในกรอบประมาณร้อยละ 77.5-79.5 ต่อจีดีพี โดยภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงปีนี้ เมื่อผนวกกับภาระหนี้ของครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ทั้งหนี้บ้านและหนี้รถ ที่มีผลผูกพันหลายปีนับจากวันที่ก่อหนี้อาจมีผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ขณะที่ยังต้องติดตามมาตรการด้านเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและดูแลแก้ไขปัญหาด้านรายได้-ภาระหนี้ ของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย.-สำนักข่าวไทย