กรุงเทพฯ 20 ก.ย.- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ที่ 2.6% แม้มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องจับตาปัญหาน้ำท่วม-เศรษฐกิจหลักชะลอตัว ประเมินน้ำท่วมอาจเสียหายสูงถึง 30,000 ล้านบาท คาด กนง.อาจลดดอกเบี้ยปลายปี ชี้หนี้ครัวเรือนยังสูง ส่งผลสินเชื่อแบงก์ปีนี้โตไม่เกิน 1.5%
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปีจะเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากการส่งออกและการลงทุน และการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งประเมินว่าจะมีผลกระทบถึง 20,000 ล้านบาท และอาจจะมากขึ้นถึง 30,000 ล้านบาท หากสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 ขณะที่เศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ด้านอุตสาหกรรมไทย มองว่าจะยังอยู่ท่ามกลางปัญหาน้ำท่วม ค่าเงินบาทผันผวนสูง การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ และต้นทุนเพิ่มโดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระทบต่อภาคเกษตร การผลิต และบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สำหรับภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่ากลุ่ม รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากด้านรายได้ที่หดตัว
ส่วนภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน 90% ต่อจีดีพี ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้การเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง โดยผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3 ปร 2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ขณะที่ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืนด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีมาตรการเพิ่มรายได้ การเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน เพื่อช่วยลดหนี้สิน รวมทั้งภาครัฐต้องมีนโยบายเข้ามาเพิ่มจีดีพีให้เติบโตขึ้น โดยการปลดล็อกข้อกฎหมายที่ซับซ้อน เพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถแข็งขันได้ ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ ถือเป็นการแก้หนี้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน หากสามารถดำเนินการได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ นายบุรินทร์ ระบุว่า ธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานมากจะเดินต่อไปไม่ได้ ในหลายกลุ่มธุรกิจจึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ อย่างไรก็ตาม จะเห็นการผลักดันให้ ภาคธุรกิจหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้ลดดอกเบี้ย 0.5% มากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ช่วงปลายปี 2567 แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยจากจาก ธปท.
ทั้งนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลก ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างทองคำได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักถึงความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย
ส่วนทางเศรษฐกิจจีน มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตก
สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนียังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.-516-สำนักข่าวไทย