ลอนดอน 5 มี.ค.- ชายชาวลอนดอนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายที่สองของโลกที่ดูเหมือนจะปลอดจากเชื้อไวรัส หลังได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ ซึ่งเป็นวิธีอันตรายและไม่ได้ผลในผู้ติดเชื้อหลายราย
เว็บไซต์นิตยสารเนเจอร์ของอังกฤษรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ชายชาวลอนดอนคนหนึ่งตรวจพบในปี 2546 ว่าติดเชื้อเอชไอวี และเริ่มรับยาต้านเพื่อควบคุมเชื้อในปี 2555 ไม่มีข้อมูลว่าเหตุใดเขาจึงรับยาช้า เขาเริ่มเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินในปีนั้น และตกลงรับการปลูกถ่ายเซลล์รักษามะเร็งในปี 2559 แพทย์พบว่า ผู้บริจาคเซลล์ให้เขามียีนกลายพันธุ์ที่สามารถต้านทานเชื้อเอชไอวีได้โดยธรรมชาติ ผู้สืบเชื้อสายจากยุโรปเหนือที่ได้รับยีนกลายพันธุ์นี้จากทั้งพ่อและแม่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และผู้บริจาคเซลล์รายนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น การปลูกถ่ายเซลล์เปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันของชายชาวลอนดอนให้สามารถต้านทานเชื้อเอชไอวี เขาจึงสมัครใจงดรับยาต้านเพื่อดูว่าปริมาณเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ปกติแล้วผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะต้องรับประทานยาต้านไปตลอดชีวิตเพื่อกดปริมาณเชื้อ หากหยุดยา เชื้อจะเพิ่มขึ้นภายในสองถึงสามสัปดาห์ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นกับเขา เพราะยังคงตรวจไม่พบเชื้อหลังงดยาไปแล้ว 18 เดือน
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รับการปลูกถ่ายเซลล์แล้วปลอดเชื้อเป็นคนแรกของโลกคือ นายทิโมธี บราวน์ ชายชาวอเมริกัน เขารับการปลูกถ่ายเซลล์ในเยอรมนีเมื่อ 12 ปีก่อน และยังคงปลอดเชื้อเอชไอวีจนถึงขณะนี้ บราวน์เผยกับเอพีว่า อยากพบกับชายชาวลอนดอนและอยากสนับสนุนให้เขาเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแวดวงวิทยาศาสตร์และเป็นความหวังให้แก่ผู้ติดเชื้อรายอื่น ๆ
แพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อทั้งสองรายนี้มองว่า กรณีล่าสุดเป็นเครื่องยืนยันว่ากรณีแรกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อีก และอาจนำไปสู่วิธีการที่ง่ายขึ้น สามารถใช้ในวงกว้างมากขึ้นต่อไป เพราะการปลูกถ่ายเซลล์ในปัจจุบันยังคงเป็นกระบวนการที่ยากเย็น ต้องเริ่มด้วยการฉายรังสีหรือใช้เคมีบำบัดทำลายภูมิคุ้มกันเดิมเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนด้วย กรณีของนายบราวน์ต้องรับการปลูกถ่ายครั้งที่สองเพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวกำเริบ ส่วนกรณีของชายลอนดอนรับแต่เคมีบำบัด ไม่ได้รับการฉายรังสี และร่างกายต่อต้านเซลล์ปลูกถ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น.- สำนักข่าวไทย