กทม.10 พ.ค.-ศูนย์บริการโลหิตฯ เผยกรณีพบติดเชื้อเอชไอวี จากการรับบริจาคโลหิต พบเป็นรายที่ 2 ชี้โอกาสหลุดรอดของเชื้อเกิดขึ้นได้ ในระยะฟักตัว ไม่มีเทคโนโลยีตรวจเจอ โอกาสเกิดได้ 1ต่อ1.6 ล้านคนเท่านั้น เชื้อเอชไอวี มีระยะฟักตัว 5-7 วัน ดังนั้นผู้บริจาคหากไม่แน่ใจ หรือมีความเสี่ยง อย่าบริจาค
พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีพบการติดเชื้อเอชไอวี จากการรับบริจาคโลหิต ว่า ปัจจุบันขั้นตอนการรับบริการโลหิตมีการตรวจคัดกรองจากแบบ สอบถาม และตรวจด้วยเครื่องและน้ำยาทางการแพทย์ ที่ครอบคลุม 5 โรค สำคัญ ทั้งเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บีและซี และซิฟิลิส แต่คาดว่าสาเหตุที่เชื้อหลุดรอด จากเลือดผู้บริจาคจนไปถึงผู้รับโลหิตได้นั้น มาจากช่วงระยะฟักตัวของโรคที่แม้แต่เทคโนโลยีก็ไม่สามารถตรวจได้หรือที่เรียก ว่า window period ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้บริจาค เพิ่งผ่านความเสี่ยงของการรับเชื้อไม่นาน และมาบริจาคเลือดทันที
พญ.จารุพร กล่าวต่อว่า การติดเชื้อเอชไอวีใช้ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อประมาณ 5-7วัน ,ไวรัสตับอักเสบบี ระยะฟักตัวของเชื้อ 24-27 วัน ,ไวรัสตับอักเสบซี ระยะฟักตัวของเชื้อ 3-5 วัน ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเทคโนโลยีอะไรก็ตามไม่สามารถตรวจพบได้ ซึ่งมาตรฐานของการบริจาคโลหิตและรับโลหิตของไทยก็เทียบเท่าสากล โอกาสได้รับเชื้อเอชไอวี มีได้แค่ 1 ต่อ 1.6 ล้านประชากรเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตามต้องขอวอนผู้บริจาคโลหิต ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ตรง ไปตรงมาเพื่อการตรวจคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง หากรู้ตัวว่าเสี่ยงและเพิ่งผ่านพ้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ลุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรบริจาคโลหิต โดยควรให้ปลอดภัย อย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งหมายถึง การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนเดียว
พญ.จารุพร กล่าวอีกว่า กรณีการพบติดเชื้อเอชไอวีจากการับบริจาคโลหิตรายนี้ นับเป็นรายที่ 2 หลังจากมีรายแรก เมื่อปี ค.ศ.1980 โดยสำหรับผู้รับโลหิตรายนี้ทราบว่ามีการได้รับเชื้อตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) เนื่องจากป่วยเป็นโรคเลือด ต้องใช้ปริมาณเลือดจำนวนมากกว่า 100 ถุง สำหรับโรคที่จำเป็นต้องใช้ โลหิตจำนวนมากได้แก่ ฮีโมฟีเลีย ,ลูคีเมีย เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการตรวจคัดกรองโลหิตก่อนถึงมือผู้รับจะนำมาตรวจคัดกรองด้วยการปั้นเลือด ตรวจหาเชื้อ ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อโลหิตให้ถึงมือผู้ป่วย ดังนั้นอาจทำให้ ช่วง window period ตรวจไม่เจอและสำหรับโลหิตที่รับบริจาค และพบว่าเป็นเลือดที่มีความเสี่ยงก็จะถูกนำไปตรวจซ้ำและหากให้ผลยืนยันติดเชื้อโรคก็จะถูกนำ ไปทำลายทันที ซึ่งปริมาณเลือดที่ไม่สามารถส่งต่อให้ผู้ป่วยได้ คิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น .-สำนักข่าวไทย