กทม.3 ก.ย.-กทม.ลุยตรวจร้านสักคลองหลอด หลังปรากฏข่าวมีสาวเสียชีวิตภายหลังการสักในร้านย่านดังกล่าว พบไม่สะอาด ไร้มาตรฐานสุขอนามัย ขณะที่ผู้ว่าฯกทม. เตรียมขยายผลตรวจสอบการบริการสักตามตลาดนัดในพื้นที่ กทม.
จากกรณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านน้อยสนามบิน ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย เปิดเผยเรื่องราวของลูกบ้าน หลังได้รับแจ้งว่า ลูกสาวของลูกบ้านคนหนึ่งอายุ 22 ปี เสียชีวิตหลังจากไปสักลายพร้อมกับเพื่อนๆ โดยแพทย์ตรวจเลือดพบว่า ทั้ง 4 คนติดเชื้อเอชไอวี และเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ไม่นาน หลังไปสักลาย จากช่างสักที่บริเวณริมคลองหลอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วันนี้ (3ก.ย.) สำนักงานเขตพระนครและสำนักอนามัย ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านสักที่เป็นข่าว พบนายสมชาย อริยะ หรือ อ.เก่ง TATTOO เจ้าของร้านสัก ซึ่งลักษณะร้านเป็นรถจักรยานพร้อมอุปกรณ์เพื่อใช้เดินทางไปสักตามสถานที่ต่างๆ
เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก พบว่า อุปกรณ์ต่างๆไม่ได้มาตรฐานเรื่องของความสะอาด แม้นายสมชายจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ให้ความสำคัญกับความสะอาดเพราะเปลี่ยนเข็มที่ใช้สักตลอดทุกครั้ง แต่จากการตรวจเข็มสัก แม้จะยังไม่ได้เปิดใช้ แต่อุปกรณ์ห่อเข็มหลุดลอกออก รวมทั้งอุปกรณ์ใส่สีสักก็ไม่ได้เปลี่ยนใหม่ ไม่มีเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ ส่วนเครื่องสัก ก็ดัดแปลงประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เจ้าหน้าที่จึงได้สั่งให้นายสมชายหยุดให้บริการชั่วคราว และไปทำความสะอาดอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนจะกลับมาให้บริการ
พญ.อลิศรา ทัตตากร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าร้านไม่มีความปลอดภัยตามหลักอนามัย เพราะทั้งเข็ม สีที่ใช้สัก อุปกรณ์ผสมสีสัก แม้ทางร้านยืนยันความสะอาด แต่ก็พบว่าไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเสี่ยงต่อโรคติดต่อได้ เช่น โรคดื้อยา หรืออาจติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จึงสั่งให้หยุดให้บริการชั่วคราว และส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมเรื่องของสุขอนามัย การทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์
ส่วนนายสุรสิทธิ์ เหลืองรุ่งเกียรติ หัวหน้ากลุ่มสุขาภิบาลโรงงานและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า ที่ผ่านมายอมรับว่า กทม.อาจไม่ได้มีการตรวจสอบหรือเก็บตัวเลขร้านสักในลักษณะแบกะดินเช่นนี้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าตามตลาดนัดหรือชุมชนต่างๆ จำนวนเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่มีในมือตอนนี้ ร้านสักที่มาจดทะเบียนถูกต้องใน กทม.มีประมาณ 50 ร้านในเขตพระนคร มีประมาณ 15 ร้าน ซึ่งความเป็นจริงร้านสักใน กทม.มีจำนวนมาก หากพบเปิดร้านโดยไม่มีใบอนุญาตก็จะมีโทษซึ่งในอนาคต กทม.จะต้องประชุมวางแผน สำรวจตัวเลขที่ชัดเจน และเรียกผู้ประกอบการมาอบรมให้ความรู้เน้นความสำคัญเรื่องของสุขอนามัยให้กับกลุ่มอาชีพนี้
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า หลังเกิดข่าวขึ้นและมีชื่อตัวเองเข้าไปเกี่ยวด้วย ยอมรับว่าตกใจมาก ยืนยันสักให้แค่คนเดียวไม่ใช่ทั้ง 4 คนตามที่เป็นข่าว ซึ่งตลอด 10ปีที่เปิดร้านสัก ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนมาบ่น หรือโวยวายมีปัญหาจากการสักของตน เพราะยึดความสะอาด ถ้าไม่อย่างนั้นต่างชาติที่เคยมาสักกับตนเองคงเสียชีวิตเป็นข่าวใหญ่โตแล้ว หลังจากที่เจ้าหน้าที่มาตรวจ ตนก็คงต้องทำตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดเหตุผู้หญิง 4 รายจากการติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิต ซึ่งระบุว่ามีการสักลายภายในร้านย่านคลองหลอด โดยยอมรับว่าขั้นตอนการอนุญาต เปิดร้านเพื่อดำเนินการสักลาย เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่ง กทม. พร้อมลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบ โดยตามอำนาจหน้าที่ กทม.สามารถจับ-ปรับได้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2535 เท่านั้น
ส่วนการเปิดร้านบริการสักคิ้วหรือสักลายต่างๆตามตลาดนัดในพื้นที่ กทม. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด
สำหรับการเปิดกิจการร้านสักต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ โดยมีข้อกำหนดให้สถานประกอบการ มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. มีเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น 2. มีหลักฐานการกำจัดอุปกรณ์ติดเชื้อ เข็มสัก ในสถานที่ที่สาธารณสุขรับรอง
3. มีหลักฐานรับรองคุณภาพสีว่าเป็นสีที่ใช้ในการประกอบการสัก ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือผิวหนังของมนุษย์ 4. ต้องมีป้ายแสดงกฎข้อห้ามในการปฏิบัติตัวระหว่างสัก 5. ต้องมีการกั้นแบ่งส่วนพื้นที่ในการสักอย่างชัดเจน 6. ต้องมีการแยกส่วนพื้นที่ในการทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างชัดเจน 7. ต้องมีใบยินยอมในการสักและลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้า .-สำนักข่าวไทย