กรุงเทพฯฯ 4 มี.ค. – ธปท.ชี้การค้าโลกปีนี้จะท้าทายและต้องร่วมมือช่วยผู้ประกอบการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจและค่าเงิน
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 มี.ค.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) และ ธปท.ได้หารือร่วมกันถึงทิศทางการค้าโลก การส่งออกของไทยและค่าเงิน โดยเห็นร่วมกันว่าบรรยากาศการค้าโลกปีนี้โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และโจทย์สำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้อย่างไร ซึ่ง สรท.และ ธปท.เห็นร่วมกันว่าไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะ เรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้
สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะบรรยากาศการค้าโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งการปรับลดสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ที่ติดลบมากกว่าร้อยละ 10 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่การส่งออกบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงเป็นผลจากสงครามการค้าที่ผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกมีไม่มาก และความสัมพันธ์ของ 2 เรื่องนี้ไม่ชัดเจน ดังเห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของเค้าจะไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2.3 เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท.ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัวระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ด้าน อย่างสม่ำเสมอ เช่น กำหนดราคาสินค้า (invoicing) ในรูปเงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปดอลลาร์สหรัฐเกือบร้อยละ 80 แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐเพียงร้อยละ 10 กว่าเท่านั้นเอง
สำหรับผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ก็อาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อ options และจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ .-สำนักข่าวไทย