นนทบุรี 26 ก.ค. – ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยยอดส่งออกสินค้าไทยใน มิ.ย.67 หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.3 แต่หากดูยอดรวมครึ่งปีแรกเติบโตดีตามกระแสความต้องการสินค้าไทย แม้จะเจอปัจจัยลบหลายด้านอยู่บ้าง โดยยอดส่งออก 6 เดือน ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2 แถมเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 คาดยอดส่งออกทั้งปียังเป็นไปตามเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 1-2
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 67 และ 6 เดือนแรกของปี 2567 โดยยอดส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.3 กลับมาหดตัวเล็กน้อย สาเหตุหลักจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ดุลการค้าไทยเกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือน
ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯ หดตัวลงอย่างชัดเจน ทำให้ยอดการส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.0 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.1
ทั้งนี้ ขณะที่ตัวเลขการนำเข้า มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ดุลการค้า เกินดุล 218.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม หากดูกลุ่มยอดรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 2.2 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.8 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน แต่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 96.6 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และโกตดิวัวร์ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 28.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเนื่อง 4 เดือนในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และแคนาดา อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี และฟิลิปปินส์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ในตลาดจีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 147.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา อิตาลี และเวียดนาม
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 37.8 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 51.9 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา แทนซาเนีย เวียดนาม เคนยา และจีน เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 9.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีน และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 13.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาซิโดเนีย และคูเวต
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.5 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเดือนก่อนหน้า ในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 7.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ในตลาดจีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และเมียนมา เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 20.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และเมียนมา
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 7.9 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 6.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 5.5 หดตัวต่อเนื่อง 26 เดือน ในตลาดจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย กัมพูชา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้
แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 21.4 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย และลาว เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 24.2 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา และลาว แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 54.2 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บราซิล กัมพูชา และสหราชอาณาจักร
โดย สนค.ยังประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 67 แม้ยังมีปัจจัยลบด้านสงครามระหว่างประเทศและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งด้านพลังงานในตลาดโลก แต่ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังมีต่อเนื่อง ดังนั้น ยังมั่นใจว่ายอดการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสเป็นบวกตามที่ สนค.คาดการณ์ไว้ร้อยละ 1-2 หรือมีมูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แน่นอน.-514-สำนักข่าวไทย