นนทบุรี 23 พ.ค.-สนค.เผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.67 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ 6.8% หลังจากเดือนที่แล้วหดตัวถึง 10.9% โดยคาดการณ์ส่งออกเดือน พ.ค.ยังมีโอกาสเป็นบวกได้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2567 พบว่ามีมูลค่า 23,278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% ซึ่งหากหักสินค้าที่เกี่ยงเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะบวกถีง 11.4% ตามเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวได้ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัว ส่งผลดีต่อกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่กลับมาเป็นบวกในรอบ 3 เดือน บวก 12.7% / และสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาเป็นบวก 9.2% หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า มีเพียงสินค้าเกษตร ที่หดตัวในรอบ 4 เดือน ที่3.8% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ข้าว ขยายตัว 91.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 / ยางพารา ขยายตัว 36.2% / อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปขยายตัว 14.8% / อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 52.9% / และไก่แปรรูปขยายตัว 17.2%
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับสัญญาณการขยายตัว ของภาคการผลิตโลก โดยสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 26.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตลาดสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัว 20.2% ตลาดอาเซียน ขยายตัว 3.7% และตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 17.8% ส่วนตลาดที่หดตัวต่อเนื่อง มีทั้งจีน ติดลบ 7.8% และญี่ปุ่น ติดลบที่ 4.1% ทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทย ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) มีมูลค่ารวม 94,273 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.4%
ส่วนแนวโน้มในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่ายังเป็นบวกได้ต่อเนื่อง แม้ฐานในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจะสูง เนื่องจากสินค้าเกษตร ที่เริ่มทยอยส่งออกได้ โดยเฉพาะผลไม้ หลังจากผลผลิตออกล่าช้า และไตรมาสที่ 2 คาดการณ์ว่าจะมีโอกาสบวก 0.8-1% โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 1-2%
ส่วนการนำเข้าในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 24,920 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.3% ไทยยังขาดดุลการค้า 1,641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ ภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 100,390 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% ไทย ยังขาดดุลการค้า มูลค่า 6,116 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่การขาดดุลต่อเนื่อง มาจากสินค้าทุน และวัตถุ รวมกันถึง 66% จึงไม่น่ากังวล เพราะเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตใช้ในประเทศและส่งออกเป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท.กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 การส่งออกมีโอกาสโตได้ 1% จากการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ก็ยังส่งออกได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาทะเลแดง ที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ส่งผลต่อความผันผวนของค่าระวางเรือ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงปัจจุบัน มีการปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึง 37% โดยเฉพาะเส้นทางส่งสินค้าไปยุโรป ปรับขึ้นไปที่ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตู้ 20 ฟุต จากปกติจะเฉลี่ย 1,800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตู้ 20 ฟุต ทำให้ทุกสายเดินเรือ ต้องใช้เส้นทางอ้อม กระทบต้นทุนการเดินเรือระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางในการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และสนับสนุนการส่งเสริม และใช้ Soft Power ผลักดันสินค้าศักยภาพของไทยให้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาหารและสิ่งทอเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย