กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – คมนาคมได้ฤกษ์เสนอตั้งโรงงานผลิตรถไฟ-ชิ้นส่วนอะไหล่รถไฟ รถไฟฟ้า หวังลดต้นทุนผลิต-นำเข้า อุปกรณ์-ซ่อมบำรุงรวมกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติรัฐบาลนี้ มั่นใจสร้างงานได้มหาศาล
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมระบบราง ว่า ขณะนี้เป็นที่สรุปแล้วว่ากระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลังจะเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ชิ้นส่วน ระบบอาณัติสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับรถไฟทั้งหมด และเกิดโรงงานแรกให้ได้ภายในปี 2565 โดยทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติการจัดตั้งภายในรัฐบาลนี้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งโรงงานผลิตในไทยอย่างจริงจัง กระทรวงคมนาคมจะกำหนดให้ภายในปี 2563 การกำหนดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด ต้องระบุให้มีการซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศหรือผู้ผลิตที่มีแผนลงทุนผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนภายในปี 2565 กำหนดให้มีการจัดซื้อและส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ ภายในปี 2567 กำหนดให้ต้องซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตโดยชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่ารถที่สั่งซื้อ และภายในปี 2568 กำหนดให้ต้องซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักสำคัญ เช่น ตัวรถ โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบขับเคลื่อน ระบบจ่ายไฟ ระบบช่วงล่าง เป็นต้น
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากผลการศึกษาของอุตสาหกรรมพบว่าใน 20 ปีข้างหน้าไทยมีความต้องการใช้รถไฟ รถไฟฟ้ามากว่า 1,000 ตู้ ประกอบกับปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนทางรางในไทยทั้งของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ใช้ตู้รถไฟมากว่า 413 ตู้ และในอนาคตไทยมีจะการลงทุนรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ หากมีการตั้งโรงงานผลิตรถไฟ รถไฟฟ้าในไทยจะช่วยลดต้นทุนการผลิต นำเข้า บำรุงรักษาทั้งระบบหากมีการจัดซื้อตู้รถไฟ 1,000 ตู้ รวมกว่า 22,300 ล้านบาท แยกออกเป็นลดการนำเข้าอุปกรณ์ ชิ้นส่วน อะไหล่ต่าง ๆ กว่า 18,000 ล้านบาทต่อ 1,000 ตู้ ลดต้นทุนการบำรุงรักษา จ้างผู้เชี่ยวชาญ และซ่อมบำรุงกว่า 4,300 ล้านบาทต่อปี และหากมีการตั้งโรงงานจะเกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานรถไฟฟ้านั้น มองว่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสม เช่น ขอนแก่น เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย