แอตแลนตา 2 ก.พ.- รายงาน Digital 2019 ระบุว่า คนไทยใช้เวลาท่องโลกออนไลน์ในแต่ละวันมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากฟิลิปปินส์และบราซิล
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นเผยแพร่รายงานที่จัดทำโดย Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารสื่อสังคมออนไลน์ในแคนาดาและ We Are Social บริษัทการตลาดดิจิทัลสากลว่า ปี 2561 ที่ผ่านมาคนทั่วโลกใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 42 นาที แต่ชาวฟิลิปปินส์ใช้มากที่สุดในโลกถึงวันละ 10 ชั่วโมง 2 นาที ตามด้วยชาวบราซิลวันละ 9 ชั่วโมง 29 นาที ชาวไทยวันละ 9 ชั่วโมง 11 นาที ชาวโคลอมเบียวันละ 9 ชั่วโมง และชาวอินโดนีเซียวันละ 8 ชั่วโมง 36 นาที ขณะที่ชาวอเมริกันใช้เวลาออนไลน์วันละ 6 ชั่วโมง 31 นาที ชาวจีนวันละ 5 ชั่วโมง 52 นาที ชาวสหราชอาณาจักรวันละ 5 ชั่วโมง 46 นาที ส่วนประเทศที่ใช้เวลาออนไลน์น้อยที่สุดในการสำรวจคือชาวญี่ปุ่น วันละ 3 ชั่วโมง 45 นาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โซเนีย ลิฟวิงสโตน อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอลเอสอีของอังกฤษมองว่า การที่รายงานพบว่าทั่วโลกใช้เวลาอยู่หน้าจอเฉลี่ยวันละเกือบ 7 ชั่วโมงไม่ได้หมายความว่ามวลชนเสพติดอินเทอร์เน็ต แต่อาจสะท้อนว่ากระบวนการภาครัฐและภาคสังคมได้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งการจองตั๋ว การหาข้อมูล การทำงาน หรือการสื่อสารระหว่างคนทำงานด้วยกัน งานหลายอย่างต้องใช้การออนไลน์เท่านั้น และงานหลายอย่างต้องอาศัยแอปพลิเคชันออนไลน์เข้ามาช่วย ดังนั้นการที่ชาวฟิลิปปินส์ออนไลน์มากที่สุดในโลก อาจเป็นเพราะประชากรมากถึง 2.3 ล้านคนทำงานในต่างประเทศ พวกเขาจึงต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางเชื่อมความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกัน
รายงาน Digital 2019 พบว่า คนทั่วโลกร้อยละ 57 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เฉพาะปีที่แล้วมีนักออนไลน์หน้าใหม่กว่า 360 ล้านคน ประเทศที่มีอัตราการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีอัตราการเชื่อมต่อสูงถึงร้อยละ 99 ตรงกันข้ามกับกานา ประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่มีอัตราการเชื่อมต่อเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อปและแท็บเล็ตยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการเข้าอินเทอร์เน็ต แต่แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากวันละ 4 ชั่วโมง 32 นาทีในเดือนมกราคม 2557 เหลือ 3 ชั่วโมง 28 นาทีในเดือนมกราคมปีนี้ ขณะที่การเข้าผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มจากวันละ 1 ชั่วโมง 38 นาที เป็น 3 ชั่วโมง 14 นาที.-สำนักข่าวไทย