กรุงเทพฯ4 ม.ค. – ปลัดกระทรวงพลังงานย้ำซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลังปี 70 ไปแล้ว โดยช่วงนี้ส่งเสริมให้ผลิตเองใช้เอง เล็งขยายกำลังผลิต “แม่เมาะ- น้ำพอง”
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีฉบับใหม่จะมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรับซื้อพลังงานเข้าระบบนั้นคงจะเริ่มปี 2570-2580 ส่วนระยะนี้เป็นการส่งเสริมในรูปแบบการผลิตเองใช้เองเป็นหลักควบคู่กับการส่งเสริมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าชีวมวลชีวภาพ เช่น การนำผักตบชวามาเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ขณะเดียวกันในแผนพีดีพีจะมีการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าน้ำพอง และโรงไฟฟ้าแม่เมาะอีกด้วย ซึ่งในส่วนของน้ำพองกำลังพิจารณาว่าก๊าซธรรมชาติจะใช้จากส่วนใด เช่น แหล่งภูฮ่อม, การต่อท่อก๊าซจากนครราชสีมา หรือการขนส่งในรูปแบบแอลเอ็นจี
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้จัดสัมมนา “การสื่อสารนโยบายสู่ภาคปฏิบัติของกระทรวงพลังงาน ปี 2562” โดยเน้นย้ำพลังงานจังหวัดดูแลความมั่นคงและการทำความเข้าใจภาคประชาชนและร่วมปฏิภาณในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
ในโอกาสนี้ปลัดกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวในการปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติว่าทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ในปี 2562 มีดังนี้ ด้านไฟฟ้า หลังจากจัดทำร่างแผนแผนพีดีพีฉบับใหม่แล้วก็มีโครงการศึกษาการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและส่งขายให้การไฟฟ้า(Prosumer) โครงการศึกษา SPP Power Pool การสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนเครื่องที่ 1-5 การศึกษาความเหมาะสมของโซลาร์ลอยน้ำ การจัดตั้ง One Stop Service การจัดตั้งโรงไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
ด้านน้ำมัน เห็นชอบและประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ…. การศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนและเกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น โครงการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้ B10
ด้านก๊าซธรรมชาติ หลังจากเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกชสำเร็จปีที่ผ่านมา ปีนี้มีภารกิจต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการนำเข้าแอลเอ็นจี โดยปี 2562 จะดูเรื่องการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน เพื่อทดสอบระบบเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access -TPA)
ด้านพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน มีแผนขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System-ESS) รวมถึงมีการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานสำหรับอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป นอกจากนี้ ด้านองค์กรจะจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Code of Conduct) การพัฒนาศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ. – สำนักข่าวไทย