กรุงเทพฯ 20 เม.ย.-กกพ.เปิดรับฟังความเห็นซื้อพลังงานทดแทนรอบ 2 วันที่ 19-25 เม.ย.66 รับซื้ออีก 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นรอบขยาย และรอบปรับปรุงใหม่ รอดูความเห็นจะเปิดรับรายใหม่ให้เสนอโครงการหรือไม่ จากเดิมที่มติบอร์ด กพช. 9 มี.ค.66 ให้รับซื้อจากรายเดิมที่เสนอเข้ามาเท่านั้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า บอร์ด กกพ. มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง “รอบขยายการรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ 1” ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2566 (https://www.erc.or.th/th/listen-to-opinions/493) ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. 9 มี.ค.66 ปริมาณ 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมติระบุพิจารณาจากข้อเสนอของรายเก่าที่เสนอมาแล้วเท่านั้น โดยการรับซื้อจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ กำหนดให้ กกพ. พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้า และมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โดยให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นรายสุดท้ายภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่คงเหลือนั้น ให้ กกพ.สามารถปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายให้กับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารายดังกล่าวได้ไม่เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม ถ้าหากโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่สามารถรองรับได้
2. การรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้วตามข้อ 1 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail) หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือไม่ได้รับการคัดเลือกในการรับซื้อตามข้อ 1 ให้เสนอปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ครบถ้วนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ.กำาหนด พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2) พลังงานลม 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4) ขยะอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนที่เหลือนี้ได้
“กกพ.จะคืนบอนด์ค้ำประกันให้กับผู้เสนอขายก่อนหน้านี้ทุกราย และหากรายใดเห็นชอบตามมติ กพช. ในการรับซื้อดังกล่าว ก็สามารถใส่บอนด์เข้ามาใหม่ เพื่อร่วมเข้าเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบขยายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กกพ.ดำเนินการด้วยความโปร่งใส โดยจะไม่ทราบว่าโครงการที่เสนอเข้ามานั้นเป็นของบริษัทใด จะทราบเพียง CODE เท่านั้น“ นายคมกฤช กล่าว
ทั้งนี้ การรับซื้อรอบใหม่ดังกล่าวเป็นการรับซื้อสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565-2573 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 2,632 เมกะวัตต์, พลังงานลม จำนวน 1,000 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.5 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อเพิ่มเติมจากรอบที่ 1 มีการประกาศรายชื่อผู้ได้โครงการไปแล้ว 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าและยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าพลังงานทดทดแทนรอบแรก ซึ่งเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 4-25 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ยื่น 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวม 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่ กกพ.เปิดรับซื้อไฟรวม 5,203 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย