กรุงเทพฯ 21 ส.ค.-บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) ประชุม วันนี้ แต่งตั้งรักษาการ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ หลัง กกต.ยังไม่พิจารณาแต่งตั้ง นับเป็นรักษาการคนแรกในรอบ 54 ปี “บุญญนิตย์” วอนแต่งตั้งโดยเร็ว พร้อมชี้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังจำเป็น back up พลังงานทดแทน
วันนี้(21 ส.ค. ) เป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ผู้ว่า กฟผ. นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เพราะเกษียณอายุวันพรุ่งนี้ โดยนายบุญญนิตย์ กล่าวว่า วันนี้ บอร์ด กฟผ. ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะพิจารณา แต่งตั้งรักษาการ ผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่ในระหว่างรอการแต่งตั้ง ผู้ว่าการ คนใหม่ โดยอยากเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเห็นชอบโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมา การคัดเลือก ว่าที่ผู้ว่าการคนใหม่ คือนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้ดำเนินการมานานแล้วและผ่านขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง หากแต่งตั้งล่าช้าจะมีผลต่อนโยบายใหม่ของการทำงานในอนาคต ซึ่งต้องมีความต่อเนื่องและปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาระค้างจ่ายค่าไฟฟ้าเอฟทีแทนประชาชน 1.5 แสนล้านบาทนั้น กฟผ.ได้ยอมให้ระบบเกลี่ยคืน กฟผ.จาก 6 งวดเป็น 7 งวดค่าเอฟทีแล้ว ไม่สามารถขยายผ่อนจ่ายได้อีก นับเป็นฟ้างเส้นสุดท้าย เพราะจะกระทบหนักภาระการเงิน
ในขณะที่ รูปแบบพลังงานของประเทศ เห็นด้วยที่ต้องเดินหน้ารับพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทน แต่ฟอสซิลพลังงานแบบเก่าก็ยังจำเป็นต้องเป็นพลังงานพื้นฐานหรือ back up เพื่อให้เกิดความมั่นคงและต้นทุนไม่แพง เพราะในช่วง 5-10 ปีนี้ แบตเตอรี่สะสมพลังงานทดแทนยังมีราคาแพง ในขณะที่ แสงแดดหรือลมไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ดังนั้น โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่า เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังมีความจำเป็น สำหรับการวางแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งรูปแบบ การติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ลดการปลอดปล่อยคาร์บอนฯ และการดำเนินการในรูปแบบกักเก็บคาร์บอนหรือคาร์บอนแคปเจอร์ ซึ่ง กฟผ.ก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
“ ตน.ไม่ห่วง กฟผ.เพราะที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหารและพนักงาน กฟผ.ทำหน้าที่ดี นอกจากดูความมั่นคงแล้ว ยังวางแผนพร้อมการเปลี่ยนผ่านพลังงานรูปแบบใหม่ นำระบบดิจิทัลมาใช้ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลิตพลังงานทดทน เช่น โซลาร์ลอยน้ำ เชื้อเพลิง ไฮโดรเจน.ระบบกริดไฟฟ้า โมเดิร์นไนเซชั่น ระบบคาร์บอนแคปเจอร์ ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี การส่งเสริมการใช้พลังงานของประเทศเป็นต้น แต่ก็อยากให้การวางแผนพลังงานของประเทศดูถึงความมั่นคงและต้นทุนค่าไฟของประชาชนในอนาคต ควบคู่การลดก๊าซเรือนกระจกที่ต้องสมดุลกัน” นายบุญญนิตย์กล่าว
ในขณะที่ กฟผ.เดินหน้ารองรับเทคโนโลยีใหม่พลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เช่น เขื่อนศรีนครินทร์เตรียม ลงทุนสร้างโซลาร์โฟลทติ้ง หลังจากที่มีการดำเนินการระบบทดลองมาแล้ว และ ลงทุนสร้างบ้าน บ้านครินทร์ (KARIN) เป็นต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงาน รวบรวมเทคโนโลยีบริการพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการบริหารจัดการพลังงานผ่านประสบการณ์จริง ตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ
โดยออกแบบตามหลักเกณฑ์บ้านเบอร์ 5 เน้นการพึ่งพาธรรมชาติตามหลัก ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้บริหารจัดการพลังงานภายในบ้านอย่างครบวงจร อาทิ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (ENZY Platform) ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น โดยมี AI Model ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อควบคุมและบริหารการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าในวันที่เข้าพักเพื่อสรุปเป็นรายงานการใช้พลังงาน(Energy Report) ให้ผู้เข้าพักได้รับรู้ถึงการใช้พลังงานภายในบ้าน รวมถึงมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Wallbox ให้บริการผู้เข้าพักที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานของบ้านครินทร์ ขยายสู่ธุรกิจ Smart Energy Solutions ทั้งในมหาวิทยาลัย สวนสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารสำนักงาน และโรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวในสังคม ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามได้รายละเอียดได้ที่http://energysolutions.egat.co.th หรือจองบ้านพักได้ที่ @kscvilla.snr .– สำนักข่าวไทย