กรุงเทพฯ 26 ธ.ค.-จีพีเอสซีพร้อมเดินหน้าซื้อโกลว์ตามมติ กกพ. ไม่เผยวงเงิน โดยตลาดคาด ราว 9 หมื่นล้านบาท
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัท เตรียมเดินหน้าเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน(GLOW)จากกลุ่ม Engie หลังจากที่คณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการกับ GLOW โดยมีเงื่อนไขให้ GLOW ขายโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 ออกไปก่อน
“ขอบคุณกกพ.และลูกค้า ที่เห็นชอบให้เดินหน้าควบรวมกิจการ บนฐานการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุมูลค่าของโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 และกรอบเวลาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะขึ้นกับทาง GLOW ว่าจะขายโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 แล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่ง บริษัทพร้อมปฎิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมทั้ง 11 ข้อที่กกพ.กำหนด ”นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวว่า หาก GLOW ดำเนินการแล้วเสร็จก็พร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้น GLOW ในสัดส่วน 69.11% จากEngie Global Development B.V. (Engie) ต่อไป หลังจากนั้นก็จะเดินหน้าเข้าสู่การทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งการตัดการซื้อโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 ออกนั้นทำให้มูลค่าการซื้อกิจการลดลงจากเดิม แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกิจการส่วนใหญ่ ซึ่งไม่กระทบต่อแผนทางการเงินที่จะใช้รองรับการเข้าซื้อกิจการที่เบื้องต้นจะกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเข้าซื้อหุ้นจาก Engie และในอนาคตก็จะเพิ่มทุนจดทะเบียนตามแผนเดิม
สำหรับโครงการโกลว์ เอสพีพี 1 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ไฟฟ้า 124 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 90 ตัน/ชั่วโมง เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนก.พ.41
ด้านแหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ GPSC เข้าซื้อกิจการ GLOW คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะปัจจุบันมีผู้ที่จะซื้อโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 แล้ว ขณะที่การตัดสินทรัพย์ดังกล่าวออกจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มูลค่าการซื้อกิจการลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้น GLOW ที่จะรับซื้อเหลือราว 90 บาท/หุ้น จากเดิมหุ้นละ 94.89 บาท
สำหรับตามแผนเดิม GPSC มีแผนจะซื้อหุ้น GLOW ทั้งหมดภายใต้วงเงินรวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ส่วนแรกจะเป็นการซื้อหุ้น 69.11% จากกลุ่ม Engie ในวงเงินรวม 9.59 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยแหล่งเงินมาจากเงินกู้ระยะสั้น 1 ปี ซึ่งมาจากเงินกู้จากบมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จำนวนรวม 3.5 หมื่นล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงิน 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ,ธนาคารกรุงไทย (SCB) ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) รวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และหนึ่งในเงื่อนไขของสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าว กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท รวมถึงการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทภายในเดือนเม.ย.62 เพื่อพิจารณาเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัท โดยเบื้องต้นบริษัทอาจพิจารณาเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 7.4 หมื่นล้านบาท -สำนักข่าวไทย