กระทรวงการคลัง 26 ธ.ค. – สศค.คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 61 โตร้อยละ 4.5 คาดมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเริ่มส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แม้ว่าหลายสำนักจะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจว่าปลายปีแผ่วลง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ยังยืนยันว่า สศค. จะยังไม่มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2561 ใหม่ เพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ยังคงต้องคอยติดตามปัจจัยอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พร้อมคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่ร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 3.9 โดยยังต้องคอยประเมินแรงขับเคลื่อนหลักที่มาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งตัวเลขการส่งออกและท่องเที่ยวที่คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับ
ด้านมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน คาดว่าจะเริ่มเห็นผลต่อเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2562
สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ขยายตัวได้ดีที่ระดับร้อยละ 12.8 ต่อปี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน และการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 26.9 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัวร้อยละ 27.5 ต่อปี
ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.95 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ CLMV ยังคงขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทูน่ากระป๋อง เป็นต้น
ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวน 3.18 ล้านคน กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 44.6 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 41 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดียและฮ่องกง เป็นต้น ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือนพฤศจิกายน 2561 มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่า 167,418 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.18 ต่อปี
ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี
สำหรับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ . – สำนักข่าวไทย