รร.ริชมอนด์ 6 ก.ย.-นักวิชาการ ระบุการจดสิทธิบัตรสารสกัดพืชกระท่อมของสหรัฐและญี่ปุ่น จะมีผลบังคับใช้ในไทยแน่ เม.ย.ปี 60 เรียกร้อง ก.พาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งแก้ ด้วยกรอบของกฎหมาย ตีความสารสกัดในใบกระท่อมไม่ใช่ของใหม่ พร้อมเสนอแก้กฎหมาย ต่อไปจดสิทธิบัตรต้องระบุแหล่งที่มา ป้องกัน ไม่ให้เป็นโจรสลัดชีวภาพ
ในการเสวนาเรื่องสิทธิบัตรใบกระท่อม วิเคราะห์ผลกระทบข้อเสนอทางนโยบาย โดย รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยวิจัยปฏิบัติการเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาสูตรโครงสร้างทางเคมี อนุพันธุ์ของใบกระท่อม ตามที่มีการจดสิทธิบัตรใน 3 กลุ่ม 1.สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2012 , 2.สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2014 และ 3.ญี่ปุ่น ล่าสุดพบว่า มีเนื้อหาสอดคล้องกัน พบสาร ไมทราไจนิน ซึ่งเป็นสารระงับอาการปวด ซึ่งไม่แตกต่างจากคุณสมบัติของกระท่อมที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดอยู่แล้ว แต่การจดสิทธิบัตรนี้กลับครอบคลุมไปถึงอนุพันธุ์ของสาร กรรมวิธีในการผลิตสาร สูตรยาที่มีองค์ประกอบสารนี้ รูปแบบของการใช้ทั้งแบบ น้ำ ผง เจล การกำหนดสูตรยาห้ามเกิน 0.5 และครอบคลุมการใช้ในคนและสัตว์ ซึ่งจะมีผลทำให้ประเทศอื่นไม่สามารถนำสารสกัดนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
รศ.ดร.จิราพร กล่าวด้วยว่า สรรพคุณของกระท่อมเองก็มีบรรจุอยู่ในตำรายาไทยโบราณ และอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตใช้แก้ปวด ทั้งนี้ยังเห็นควรใช้มีการถอนพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนายาในอนาคต และไม่ทำให้สมุนไพรไทยต้องติดกรอบในกรงขัง
ด้าน ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การที่วานนี้(5 ก.ย.) รมว.พาณิชย์ระบุว่าการจดสิทธิบัตรใบกระท่อมของสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT)ที่ จะครอบคลุมในประเทศสมาชิก 117 ประเทศ ว่าไม่ส่งผลกระทบกับไทยนั้น ความจริงแล้วสิทธิบัตรดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งทางออกของปัญหานี้ สามารถทำได้ หากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการยืนยันว่า สิ่งที่จดในสิทธิบัตรไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ เป็นของเดิมที่มีอยู่ใบประท่อมอยู่แล้ว เนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าว มีการเปิดช่องให้ประเทศสมาชิกสามารถปฏิเสธการให้คำรับรองได้ และไม่ควรสอบถามความคิดเห็นเพิ่มไปยังกรมวิชาการเกษตร เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจในการปฏิเสธได้ทันที
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นสมุนไพรในอนาคต กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรมีการปรับแก้พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา7 ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และความมีการปรับแก้ในการจดสิทธิบัตรทุกครั้ง ต้องมีการระบุที่มาของสิ่งประดิษฐ์ ว่ามีต้นกำเนิดมาจากสิ่งใด มาจากพื้นที่ใด และให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมตรวจสอบด้วย ป้องกันโจรสลัดทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นไปตาม อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งประดิษฐ์ได้รับผลประโยชน์จาการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นธรรม และได้รับความคุ้มครองด้วย .-สำนักข่าวไทย