ลาว 5 ธ.ค. – เอเชียน้ำประปา หลวงพระบาง เอสเอ็มอีไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในสปป.ลาว เผย โอกาสธุรกิจในสปป.ลาวมีอีกมาก แนะผู้ประกอบการไทยจริงใจในการทำธุรกิจ พร้อมตั้งเป้าผลิตน้ำประปาให้ถึง 50,000 ลบ.ม.ต่อวันภายใน 10 ปี
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และผู้บริหารของ EXIM BANK ได้ร่วมรับฟังบรรยายสรุปและเยี่ยมชมโครงการ บริษัท เอเชียน้ำประปา หลวงพระบาง จำกัด ซึ่งเป็น SMEs ของไทยที่ได้รับสัมปทานผลิตน้ำประปาให้แก่รัฐวิสาหกิจน้ำประปาหลวงพระบาง ณ แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นายพีระ อินทรทูต กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้น บริษัท เอเชีย น้ำประปา หลวงพระบาง จำกัด กล่าวว่า ถึงแม้ว่าไทยและ สปป.ลาว จะมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมและภาษาที่ใช้ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการแรกที่ สปป.ลาว เริ่มทำ ปัญหาและอุปสรรคจึงเริ่มต้นตั้งแต่การเจรจา การอธิบายให้รัฐวิสาหกิจน้ำประปาได้เข้าใจรูปแบบของโครงการที่มีความซับซ้อน อีกทั้งเรื่องการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ข้อสัญญาของโครงการ การปรับราคาค่าน้ำโดยอิงอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ สปป.ลาว ไม่เคยดำเนินการมาก่อนเลย นับเป็นสิ่งที่ยากพอควร โดยใช้เวลาและความพยายาม 2 – 3 ปี โดยมุ่งเน้นการนำเสนอโครงการอย่างตรงไป ตรงมา จริงใจ จนได้รับการยอมรับ
ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำของหลวงพระบางขยายตัวร้อยละ 10 – 15 ต่อปี เพราะนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำจึงมาจากภาคธุรกิจมากกว่าภาคครัวเรือน บริษัทตั้งเป้าผลิตให้ถึง 50,000 ลบ.ม.ต่อวันภายใน10ปี และยังเตรียมแผนขยายไปยังแขวงอื่นๆ ของสปป.ลาวด้วย เช่น ล่าสุดจะเริ่มที่แขวงสุวรรณเขต หรือสะหวันนะเขต รวมถึงเตรียมแผนขยายโครงการผลิตน้ำประปารองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจากจีน-สปป.ลาว ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จปี 2564 ซึ่งประเมินเบื้องต้นมีความต้องการใช้น้ำประปาทั้งโครงการถึง 6,000 ลบ.ม.ต่อวัน
“สปป.ลาว มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากมาย และจำนวนประชากรยังมีน้อย ถนน ระบบการจราจร ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่มีอยู่เข้าไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ประกอบการไทยควรปรับทัศนคติให้เป็นบวก พยายามแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการทำธุรกิจ พยายามเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจในมาตรฐานของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ นำความรู้และประสบการณ์ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับรูปแบบของแต่ละธุรกิจเพื่อช่วยกันพัฒนาทรัพยากรของประเทศที่เข้าไปลงทุนให้เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด”นายพีระ กล่าว.-สำนักข่าวไทย