กรุงเทพฯ 10 ต.ค.- กปน.เสริมกระสอบสาย สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี รับมือมวลน้ำจากเหนือ จะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพน้ำดิบ ขุ่น แต่โรงงานผลิตน้ำของ กปน.ทุกแห่งปรับคุณภาพให้ผลิตน้ำสะอาดปลอดภัยมาตรฐานสูง
นายสมศักดิ์ ปัสนานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายจังหวัดในประเทศไทย พบว่า ขณะนี้ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ภาคใต้ ภาคเหนือยังมีฝนสะสมเล็กน้อย ภาคกลางและกรุงเทพมหานครมีฝนตกหนักบางแห่งระหว่างวันที่ 8-13 ตุลาคม 2567 โดยปริมาณฝนทั่วประเทศใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนเกณฑ์การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำเพิ่มสูงกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร/ วินาที ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
กปน. จึงมีการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของ กปน.ได้เตรียมความพร้อมกำแพงป้องกันน้ำท่วม เสริมด้วยกระสอบทราย พร้อมเครื่องสูบน้ำภายในสถานีสูบน้ำดิบ และติดตามข้อมูลสถานการณ์การเคลื่อนตัวของมวลน้ำ ระดับน้ำบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำดิบอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมที่โรงงานผลิตน้ำทุกแห่งของ กปน. อย่างเข้มงวด
สำหรับปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบัน หากไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามาเพิ่มในช่วงนี้ จะไม่ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมในพื้นที่การดำเนินงานของ กปน. โดยเฉพาะที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวที่สุด โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าพื้นโรงสูบประมาณ 50-70 เซนติเมตร ซึ่งสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในสภาวะทรงตัวเช่นนี้ต่อไปอีกระยะ
“กปน. จะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ปัญหาน้ำดิบมีความขุ่นสูง และปัญหาน้ำดิบด้อยคุณภาพ ซึ่งโรงงานผลิตน้ำของ กปน. ทุกแห่งได้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไว้ทุกด้าน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถผลิตและให้บริการน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามาเพิ่มในช่วงนี้ จะไม่ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมในพื้นที่การดำเนินงานของ กปน.”นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 71 % ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำใช้การได้ในฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน 2567 – เมษายน 2568) จะมีเพียงพอ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ก็มีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ในฤดูแล้งเช่นกัน แต่ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าต่อไป เพื่อสงวนน้ำต้นทุนไว้ให้ทุกภาคส่วนใช้อย่างเพียงพอ ทั้งในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป.-511.-สำนักข่าวไทย