กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช ป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ยังไม่พบโรคในจังหวัดเสี่ยงตามแนวชายแดน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสมาคมมันสำปะหลัง 4 แห่ง เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งกำลังระบาดอย่างรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเกษตรสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศรวมกว่า 3.1 ล้านไร่ ซึ่งดำเนินการสำรวจไปแล้ว 1.87 ล้านไร่ พบต้นที่มีอาการใบด่างคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) 22 ต้นในพื้นที่ 906 ไร่ ซึ่งได้ถอนทำลายต้นที่แสดงอาการใบด่างเรียบร้อยแล้ว และเข้าไปติดตามการระบาดทุก 2 สัปดาห์ ยกเว้นพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 6 ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบการระบาดกระจายเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ 850 ไร่ จึงจำเป็นต้องออกประกาศกรมวิชาการเกษตรกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืช พ.ศ.2561 เพื่อห้ามไม่ให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืช หรือพาหะออกไปนอกหรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านตามประกาศเป็นแหล่งผลิตพันธุ์มันสำปะหลังที่สำคัญแหล่งหนึ่ง ซึ่งสามารถกระจายพันธุ์ไปปลูกต่อในพื้นที่ได้ถึง 50,000 ไร่ หากมีการขนย้ายไปปลูกในแหล่งอื่นอาจทำให้โรคแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV สามารถทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ หากพบต้นมันที่เป็นโรคต้องทำลายทิ้ง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ผลผลิตผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2558-2561 โรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน กรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวังโรคไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยเข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลัง จัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินในกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างการรับรู้โดยประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ 50 จังหวัดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงจังหวัดที่อยู่บริเวณชายแดน
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (วอร์รูม) เฝ้าระวังการแพร่ของโรคจากประเทศเพื่อนบ้านมายังไทยอย่างเข้มงวด ให้หน่วยงานในพื้นที่สำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังออกเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่เสี่ยงมาก ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างรวม 6 จังหวัด และแหล่งจำหน่ายพันธุ์ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรวม 11 จังหวัด และ พื้นที่เสี่ยงน้อย ได้แก่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไป 31 จังหวัด โดยดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนพื้นที่ทั่วไปเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน รวมทั้งประสานผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศพื้นที่แพร่ระบาดกรณีต้องทำลายมันสำปะหลังเป็นเขตภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อจะได้สนับสนุนเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรไร่ละ 1,148 บาท ไม่เกิน 30 ไร่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้นำเข้าท่อนพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านมาปลูก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และย้ำว่าท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในไทยมีเพียงพอ นอกจากนี้ ทางสมาคมมันสำปะหลังยังเตรียมไว้ 3.9 ล้านท่อน เพื่อใช้ปลูกในฤดูกาลเพาะปลูกมันสำปะหลังใหม่ในเดือนมกราคม อีกทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรจะชี้แหล่งท่อนพันธุ์สะอาดปราศจากโรคให้เกษตรกรไปซื้อได้ ปัจจุบันราคาท่อนละ 50 สตางค์และได้เตรียมท่อนพันธุ์จากศูนย์วิจัยของกรมไว้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุน โดยระยะเวลาปลูกมันสำปะหลังจนถึงเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 9 เดือน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าอาการผิดปกติของต้นมันสำปะหลังที่พบขณะนี้คล้ายโรคใบด่าง แต่เมื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการยังไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค ซึ่งการตรวจในห้องปฏิบัติการสามารถทราบผลได้ภายใน 1 วัน หากยืนยันเป็นโรคใบด่างเจ้าหน้าที่จะต้นทิ้งทันทียกแปลง จากนั้นจะต้องตรวจสอบดินอีก 2 ครั้งใน 1 เดือน หากไม่พบเชื้อและพาหะสามารถปลูกใหม่ได้ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรหากพบอาการผิดปกติของต้นมันสำปะหลัง ใบด่าง เสียรูปทรง ให้แจ้งเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดในพื้นที่ทันที เพื่อให้การควบคุมการระบาดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านสมาคมมันสำปะหลังทั้ง 4 แห่งจะช่วยเข้าไปสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้ตระหนักว่าหากเกิดโรคต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรทันที ทั้งนี้ ไทยส่งผลิตมันสำปะหลังได้ประมาณ 30 ล้านตัน ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 40 ล้านตัน โดยมีการนำเข้าหัวมันสำปะหลังจากกัมพูชาและลาว กรมวิชาการเกษตรยืนยันว่าเชื้อไวรัสก่อโรคไม่ได้ปนเปื้อนที่หัวมันสำปะหลัง ทางสมาคมมันสำปะหลังจะรับซื้อหัวมันจากแปลงที่ถูกทำลายต้น แต่หัวมันยังไม่เสียหายเป็นกรณีพิเศษ โดยโรงงานจะรับซื้อหัวมันที่มีเชื้อแป้งอย่างน้อย 25 % กิโลกรัมละ 2.98 บาท แต่หากเชื้อแป้งต่ำกว่านี้ปกติโรงงานจะไม่รับซื้อ แต่ระยะนี้จะรับซื้อจากเกษตรกรเป็นกรณีพิเศษในราคาที่เหมาะสม แต่หากเชื้อแป้งเกินกว่า 25% จะเพิ่มราคาให้อีก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปิดบัง หากพบอาการน่าสังสัยของมันสำปะหลัง เนื่องจากเกรงจะถูกทำลาย เพราะหัวมันยังขายได้และกรณีต้องทำลายทั้งแปลงจะมีค่าชดเชยจากรัฐ.-สำนักข่าวไทย