กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องแนะเตรียมรับมือสงครามการค้าและดอกเบี้ยขาขึ้น ด้านแบงก์กรุงไทยมองศก.ไทย ปีหน้าโต 4.3%
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศต่อเนื่อง จากการส่งออกปีนี้ที่คาดขยายตัว ร้อยละ 8.5 ส่วนเศรษฐกิจปี 2562 ประเมินเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า และการส่งออกปี 2562 คาดขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้น
ขณะที่การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดการท่องเที่ยวปีนี้ขยายตัว ร้อยละ 8 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม -สิงหาคม) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้วเกือบ 25.5 ล้านคน พร้อมยอมรับว่า อุบัติเหตุเรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต กระทบนักท่องเที่ยวจีนลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ติดลบ ร้อยละ -6 แต่มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและชาติอื่นๆมาทดแทน จึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่รัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและการบริการ เชื่อมั่นทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38 ล้านคน ส่วนปี 2562 คาดการท่องเที่ยวขยายตัว ร้อยละ 6 โดยได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงและข้อจำกัดจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสำคัญต่างๆของไทย
สำหรับรายได้ภาคครัวเรือนไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การใช้จ่ายจะกระจายตัวและเร่งขึ้น ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น คาด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 0.25 ในช่วงปลายปี 2561 หรือ ต้นปี 2562 เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงิน
ส่วนการเลือกตั้งในปีหน้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 4 โดยการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวค่อนข้างดี ส่วนทิศทางเศรษฐกิจหลังปี 2563 ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการอย่างไร
ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เดือนตุลาคมปี 2018 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า IMF มองเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่ารายงานเมื่อเดือนเมษายน โดยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 4.6% จากเดิม 3.9% ซึ่งใกล้เคียงกับ Krungthai Macro Research ที่คาดปีนี้เติบโต 4.5% อย่างไรก็ตาม IMF ประเมินปีหน้าไทยเติบโต 3.9% ในขณะที่ Krungthai Macro Research มองปีหน้าเติบโต 4.3%
“IMF กังวลประเทศเกิดใหม่ กับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า EM ด้วยกันมาก เราจึงมองผลลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรงเท่า IMF”
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทย เพิ่งเริ่มต้นเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ทำให้ Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับ 2.00% ในปีหน้า
นายพชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางปรับตัวแข็งค่าในปีหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสภาพคล่องที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย แต่การแข็งค่าจะถูกจำกัดด้วย 3 ปัจจัยคือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่ดีเท่าปีนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงในระยะนี้ Krungthai Macro Research แนะนำนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ระมัดระวังความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอ่อน จากภาวะตลาดโลกที่มีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงลง ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งการเมืองของสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้. – สำนักข่าวไทย