กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – ผู้ประกอบการรถบรรทุกถอดทิ้งเครื่องเอ็นจีวีกลับมาใช้ดีเซล หลังราคาเอ็นจีวีพุ่งขึ้นไม่หยุด ปัจจุบันอยู่ที่ 15.13 บาท/กก. ส่วนบี 20 ยอดใช้ไม่ค่อยขยับขึ้นตามคาดหวัง แนะทบทวนส่วนต่างกับบี 7 ให้เพิ่มจาก 3 บาท เป็น 5 บาท/ลิตร
จากที่ บมจ.ปตท.ประกาศราคาเอ็นจีวีล่าสุด 16 กันยายนที่ผ่านมาที่ 15.13 บาท/กก. ปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ 0.55 บาท/กก. นับเป็นสถิติราคาสูงสุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยใช้เอ็นจีวี โดยในเพจของ PTT NEWS มีการคอมเมนท์ถึงราคาที่พุ่งขึ้นและไม่มีการปรับปรุงสถานีบริการ โดยจากราคาที่ขยับสูงขึ้น ทำให้ยอดใช้เอ็นจีวีลดลงเหลือประมาณ 5,994 ตัน/วัน และสถานีบริการลดลงเหลือ 462 แห่งเท่านั้น
นายทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้รถบรรทุกที่ใช้เอ็นจีวีลดน้อยลง จากเดิมมีประมาณ 70,000 คัน คาดว่าน่าจะเหลือประมาณ 40,000 คัน หรือร้อยละ 3 ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด 1.4 ล้านคัน เนื่องจากราคาเอ็นจีวีที่แพงขึ้น ขณะที่ดีเซลราคาไม่ได้สูงมาก ประกอบกับค่าบำรุงรักษาเอ็นจีวีมีราคาสูง ผู้ใช้รถบรรทุกจึงถอดเครื่องยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีกลับมาเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเช่นเดิม หากราคาแตกต่างกันเช่นนี้จำนวนรถยนต์เอ็นจีวีก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ยกเว้นต้องรอดูท่อก๊าซบนบกนครสวรรค์และนครราชสีมาที่คาดว่าจะสร้างเสร็จปี 2562 ว่ามีสถานีแนวท่อก๊าซเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ และราคาเอ็นจีวีจะต่ำเมื่อเทียบกับดีเซลหรือไม่
นายทองอยู่ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ (บี 20) ขณะนี้จำนวนผู้ใช้ยังปรับเพิ่มขึ้นมาก หลังจากภาครัฐส่งเสริมการใช้บี 20 ในเดือนต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการรถบรรรทุกและรถขนส่งเห็นว่าจากการที่ภาครัฐให้ส่วนต่างราคาบี 20 ถูกกว่าน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 3 บาท/ลิตรนั้น ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ยื่นเรื่องต่อนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้พิจารณาเพิ่มส่วนต่างเป็น 5 บาท/ลิตร เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้บี 20 มากขึ้น เพราะปัจจุบันการใช้บี 20 ค่ายรถต่าง ๆ เช่น ฮีโน่ อีซูซุ วอลโว่ ไม่ได้รับประกันสภาพเครื่องรถและยังมีความเสี่ยงต่อการเสียหายของเครื่องยนต์ใหม่ อีกทั้งมีต้นทุนค่าบำรุงรักษาที่มากกว่าการเติมดีเซล นอกจากนี้ การใช้ดีเซลปกติ (บี 7) หากซื้อน้ำมันปริมาณมากและจ่ายเป็นเงินสด ผู้ประกอบการรถบรรทุกจะได้รับส่วนลดอยู่ที่ 2 บาทอยู่แล้ว
“หากกระทรวงพลังงานคาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสตอกน้ำมันปาล์มที่ล้นตลาด โดยขณะนี้ผู้ค้า เช่น กลุ่ม ปตท.ได้เข้าไปช่วยซื้อมาเก็บสตอกจำนวนมาก แต่หากยังมีส่วนต่างไม่มากพอกับบี 7 ที่ 5 บาท/ลิตร ก็คงยากจะจูงใจให้เกิดการใช้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็เห็นด้วยกับที่กะทรวงพลังงานจะดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร” นายทองอยู่ กล่าว
สำหรับยอดการใช้บี 20 ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านลิตร/เดือน จากเป้าหมายต้องการส่งเสริมให้ถึง 15 ล้านลิตร/วัน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเงินไปชดเชยราคาแล้ว 12 ล้านบาท จากที่ตั้งกรอบวงเงินอุดหนุนไว้ที่ 3,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย