รัฐสภา 19 ก.ย.-สนช.เตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานวาระแรก พรุ่งนี้ (20 ก.ย.) เพื่อแก้ไขบทบัญญัติให้ลูกจ้างแรงงานได้ค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม สร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานวาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัด ร้อยละ 15 ต่อปี ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือไม่จ่ายเงินในกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย แก้ไขบทบัญญัติกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างว่าต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง เพิ่มบทบัญญัติให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างกรณีบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยให้จ่ายเงินในจำนวนค่าจ้างที่ลูกจ้างควรได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล
นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อธุระที่จำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ลูกจ้างที่เป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิ์ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร โดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรได้ แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราเท่ากัน ทั้งลูกจ้างชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน เพิ่มบทบัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินกรณีที่นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยให้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินและภายในกำหนดเวลา แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง โดยกำหนดค่าชดเชยกรณีลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง
ทั้งนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการย้ายสถานประกอบกิจการ การจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการแจ้งล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษเท่ากับอัตราค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 30 วัน และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องและการมีคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงาน รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้สอดคล้องกับมาตราที่เพิ่มเติม แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างระงับไปเมื่อนายจ้างได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกขั้นตอนการให้พนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือแจ้งเตือนนายจ้างที่ไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน.-สำนักข่าวไทย