กทม. 22 ส.ค. – วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น เพื่อหาแนวทางการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจากยังมีปัญหายืดเยื้อ ขณะที่มีการนำข้อมูลกรณีศาลสหรัฐตัดสินให้ผู้จำหน่ายยาฆ่าหญ้า จ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเสนอต่อที่ประชุมด้วย
คำตัดสินของศาลสูงรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสินค้าเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก จ่ายเงินชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9,600 ล้านบาท ให้นายดเวย์น จอห์นสัน อดีตภารโรง วัย 46 ปี เนื่องจากยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ หนึ่งในสินค้าของมอนซานโต ที่เขาใช้มานานหลายปีเพื่อกำจัดวัชพืชในสนามโรงเรียน จนทำให้เขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบสะเก็ดแผลตามผิวหนัง และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ยาฆ่าหญ้าชนิดนี้มีสารเคมีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสม
ข้อมูลนี้ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยกรรมการที่มาเป็นตัวแทนภาคประชาสังคม จากเดิมที่เสนอให้ยกเลิกใช้พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เปลี่ยนเป็นเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดนี้ และยังมีข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย
สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ที่เห็นว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด มีผลต่อสุขภาพเฉียบพลันในระยะยาว ผู้ป่วยติดเตียง และอาจเข้าขั้นวิกฤติ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเพศสภาพ มีการศึกษาในสัตว์พบว่า ในทางวิทยาศาสตร์ การใช้สารเคมี 1-2 ชนิด มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมน สภาพการทำงานของสมองและอวัยวะสืบพันธุ์เปลี่ยนไป ส่วนการศึกษาในคนของสหรัฐ ในปี 2012 พบว่าเนื้อสมองเปลี่ยนไป มีผลต่อเชาวน์ปัญญา และการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศ
เกือบ 4 ปีแล้วที่ภาคประชาสังคมเดินหน้าเสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต ไกลโฟเซต หรือยาฆ่าหญ้า และคลอร์ไพริฟอส หรือยาฆ่าแมลง มาอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานร่วม 5 กระทรวงหลัก มีมติให้แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด
แต่ปีนี้เมื่อเรื่องถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีมติสวนทางไม่ยกเลิกสารเคมีทั้งสามชนิด ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวมากขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแต่ละปีมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้าน ที่สุดนายกรัฐมนตรีจึงสั่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ทำให้การทำงานคณะกรรมการชุดนี้กำลังเป็นที่จับตา. – สำนักข่าวไทย