กรมการแพทย์ 20 ส.ค.-แพทย์ชี้ ‘เท้าแบน’เป็นความผิดปกติของโครงสร้างเท้าที่มีมาแต่กำเนิดหรือที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ใช่โรค แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยทิ้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน กระดูกงอก ปวดสะโพก ปวดหลัง วิธีรักษา มีทั้งบำบัดทางกายภาพ รักษาด้วยยาและผ่าตัด
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เท้าแบนไม่ไช่โรคแต่เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างเท้า โดยลักษณะของเท้าไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้าเมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบไปกับพื้นทั้งหมด ภาวะดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาเดิน แต่ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน จะค่อยเป็นค่อยไปจนเริ่มมีอาการปวดเท้า ส้นเท้า ฝ่าเท้าด้านหน้า เนื่องจากเส้นเอ็นเกิดการอักเสบ หรือโรครองช้ำ
สำหรับภาวะเท้าแบนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เท้าแบนแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด โดยได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเท้าแบนที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยมีสาเหตุจากไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิต ตลอดจนการได้รับอุบัติเหตุ เช่น การเดินเท้าเปล่า หรือใส่รองเท้าแบนราบเป็นประจำและเป็นระยะเวลานาน น้ำหนักมากเกินไป อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ด้าน นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะเท้าแบนสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกงอกหรือตาปลา อาการปวดสะโพก ปวดหลัง โดยผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นภาวะเท้าแบน ได้แก่ ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเท้าแบน ผู้ป่วยโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคข้อรูมาตอยด์ รวมถึงสตรีมีครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบของฮอร์โมนในร่างกาย
สำหรับการรักษาภาวะเท้าแบน แบ่งเป็น 1.วิธีบำบัดทางกายภาพ โดยใส่อุปกรณ์เสริมที่เท้า เช่น แผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บเท้าและหนุนเท้าผู้ป่วย ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันของขาส่วนล่าง โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ 2. การรักษาด้วยยา และ 3. การผ่าตัด
ทั้งนี้ การป้องกันภาวะเท้าแบนไม่ให้มีอาการเพิ่มมากขึ้นสามารถทำได้โดยสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับลักษณะฝ่าเท้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่ก่อให้เกิดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้า เช่น วิ่ง กระโดด เตะฟุตบอล ตลอดจนลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกระแทกที่เท้า .-สำนักข่าวไทย