กทม. 6 ก.ค.-แม้การช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยู่ระหว่างการวางแผนนำเด็กและโค้ชออกมา มีมุมมองของนักวิชาการหลากหลายสาขาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมวิเคราะห์ถอดบทเรียนครั้งนี้
ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงทำให้คนไทย รวมถึงคนทั่วโลก ตื่นตัวเรื่องโครงสร้างธรณีวิทยา หันมาให้ความสำคัญกับการสำรวจและทำแผนที่ที่มีความแม่นยำมากขึ้น เพราะตั้งแต่เกิดเหตุกว่าจะรวบรวมแผนที่ที่ถูกต้องและส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในถ้ำได้ต้องใช้เวลาหลายวัน เมื่อพบตัวยังไม่สามารถนำออกมาได้ เนื่องปริมาณน้ำในถ้ำมีมาก ต้องหาทางออกโดยช่องทางธรรมชาติ อย่างโพรงและรอยแตกบนถ้ำ แต่ถ้ำหลวงเป็นภูเขาหินปูน ถูกน้ำกัดเซาะได้ง่าย มีโพรงจำนวนมาก การเจาะจึงต้องหาจุดที่แม่นยำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกหนึ่งบทเรียนคือภาพร่างทรงเข้ามาทำพิธีตามความเชื่อบริเวณหน้าถ้ำ สะท้อนถึงระบบการจัดการของเจ้าหน้าที่ที่เมื่อเกิดเหตุอันดับแรกต้องห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าเด็ดขาด ขณะที่ต้องเห็นคุณค่าของเทคโนโลยีพื้นบ้าน อย่างเครื่องสูบน้ำที่กลายฮีโร่ในหลายๆ เหตุการณ์ ต้องเตรียมให้พร้อมและเพียงพอ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับป้ายหน้าถ้ำที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนตามฤดูกาล
ประเด็นการนำเสนอข่าวของสื่อเป็นอีกเรื่องที่ถูกนำมาถอดบทเรียน ตั้งแต่เกิดเหตุแต่ละสำนักข่าวนำเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์รวมกว่า 7,921 ข่าว คิดเป็น 609 ข่าวต่อวัน โดยวันที่พบทีมหมูป่ามีข่าวมากที่สุดคือ 1,067 ข่าว ส่วนใหญ่เน้นเสนอความคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง เน้นหาฮีโร่ หาคนผิด ไสยศาสตร์ และการมีน้ำใจ ราวกับว่าเป็นกระจกสะท้อนมากกว่าเป็นเทียนส่องแสงสว่างให้สังคม
เหตุทีมหมูป่าอะคาเดมีติดในถ้ำหลวง เป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติฉุกเฉินที่ไม่เพียงกระทบต่อผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ลุกลามถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ การถอดบทเรียนจากการค้นหา 13 ชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่เพียงไทยต้องตระหนัก แต่หลายประเทศหันมาให้ความสนใจเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้.-สำนักข่าวไทย