มสธ. 27 ส.ค.-นักวิชาการชี้ยังไม่มีหลักฐานชัด ”ทักษิณ” ครอบงำเพื่อไทย แนะระวังโซนอันตรายเข้าข่ายผิดกฎหมาย ระบุควรแก้กฎหมายให้เป็นการเมืองสร้างสรรค์
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการยื่น คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ กระบวนการทำงานของรัฐบาลของนายทักษิณ เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่นายทักษิณต้องระมัดระวังไม่เดินเข้าไปในโซนอันตราย คือเข้าข่ายข้อกฎหมายที่กำหนดห้ามคนไม่ใช่สมาชิกพรรค ไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของพรรค หรืองานของรัฐบาล แต่ณ วันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดว่าการแสดงความคิดเห็นของนายทักษิณจะเข้าสู่ ประเด็นการครอบงำพรรคเพื่อไทย โดยยังไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจน ในลักษณะครอบงำสั่งการ แต่ต้องระมัดระวังเช่นในการประชุมกรรมการบริหารพรรคต้องไม่เข้าไปร่วม หรือการบริหารงานของรัฐบาลหลังจากนี้ก็ต้องระมัดระวัง นอกนั้นอาจมีข้อพิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นแต่ตามข้อกฎหมาย ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่จะไปดำเนินการตรงนั้นได้
นายยุทธพร เห็นว่าขณะนี้มีกระบวนการใช้กฎหมาย ให้กลายเป็นการเมืองซึ่งก็จะเกิดขึ้น ตามปกติทางการเมืองไทย โดยจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งในแนวดิ่ง เช่นการใช้อำนาจของรัฐ ที่มีต่อประชาชน หรือข้อพิพากษ์วิจารณ์เรื่องตุลาการภิวัฒน์ และ ความขัดแย้งใน แนวราบ คือความขัดแย้งของประชาชนที่ทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง และจะส่งผลเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ จะทำให้บ้านเมือง ขับเคลื่อนนโยบายไปไหนไม่ได้ จะกลายเป็นว่าอยู่ในมือนักร้อง ท้ายที่สุดผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชน
นายยุทธพร ยังกล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการ ครอบงำพรรคการเมือง ของคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค รวมถึงบทลงโทษ ที่มีถึงขั้นยุบพรรค ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยนำไปสู่การออกกฎหมาย แปลกประหลาดเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นเชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบ เกิดการตั้งคำถาม ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพรรคการเมือง ในเรื่องของโทษยุบพรรค หรือการครอบงำ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาและทบทวนกันใหม่ เพื่อที่จะให้เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้กฎหมายกลายเป็นการเมือง
นายยุทธพรยังกล่าวถึงกระบวนการยื่น คำร้องให้ ยุบพรรคการเมือง ว่า จะต้องมีที่มาที่ไป จะต้องปรากฏชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลที่ยื่นร้องชัดเจน ซึ่งกรณีร้องยุบพรรคจะต้องยื่นไปที่กรรมการการเลือกตั้ง หากกกต.พิจารณารับเรื่องก็จะต้อง พิจารณาสำนวนคดี สืบสวนสอบสวนต่อไป และถ้ามีมูลความผิดก็จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าจะนำไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ โดยปกติจะใช้เวลาในกระบวนการจนเสร็จสิ้น ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากเทียบเคียงกับคดียุพรรคก่อนหน้านี้ทั้ง พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล.-1-319.-สำนักข่าวไทย