กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – งานศึกษาวิจัยของศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาฯ เรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” พบปัญหาหลายด้านจากการที่พระไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน เช่น การฉ้อโกงทรัพย์ แม้จะมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาหลายทาง แต่ยังไม่เคยมีวิธีใดช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินของพระและวัดได้เหมาะสม ติดตามรายงานพิเศษ “สงฆ์กับทรัพย์” วันนี้นำเสนอเป็นตอนสุดท้าย
เคยมีงานวิจัยเรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” โดยอาจารย์ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาฯ ศึกษาข้อมูลจากเอกสารทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน ลงพื้นที่ในหลายจังหวัด เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนตัวของพระ เช่น เงินนิตยภัต เงินค่าสอน เงินจากกิจนิมนต์ กิจกรรมวัด ทำให้มองเห็นถึงภาพการครอบครองทรัพย์สิน และช่องทางการทุจริตในวัดและวงการสงฆ์ได้
ทรัพย์ ในพุทธศาสนา ตามพุทธบัญญัติ อนุญาตให้มีทรัพย์ราคาน้อยที่จำเป็นต่อการประพฤติธรรมได้ แต่จำกัดจำนวนและระยะเวลาการถือครอง เพื่อไม่ให้พระสะสมและยึดถือทรัพย์นั้นเป็นของตัวเอง แต่เมื่อเจาะจงที่ทรัพย์สินส่วนตัว เช่น เงินทอง พบว่าในพระวินัยปิฎก พระไม่สามารถรับ จับ หรือมีเงินทองเป็นของส่วนตัวได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และยังรวมถึงสิ่งมีค่าที่แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ เช่น ธนบัตร เหรียญ เช็ค บัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่บัตรเครดิต
งานวิจัยยังชี้ถึงปัญหาของสงฆ์และทรัพย์ส่วนตัวหลายเรื่อง เช่น การฉ้อโกงทรัพย์สินวัด การเรี่ยไรที่ไม่เหมาะสม เกิดคดีอาชญากรรมเรื่องผลประโยชน์ ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย กระทบต่อความมั่นคงทางศาสนา ทั้งศรัทธา คุณภาพพระ
จากปัญหาวัดพระธรรมกายที่ถูกครหาเรื่องการระดมเงินบริจาค และการสร้างสิ่งก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์มากมาย จนถึงปัญหาเงินทอนวัดที่พัวพันถึงพระผู้ใหญ่หลายรูป หลายระดับ ล้วนมีต้นเหตุมาจากเรื่องเงิน เรื่องทรัพย์สิน
เคยมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินของพระสงฆ์หลายวิธี เช่น เสนอจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา แต่ถูกคัดค้านจากวัดที่มีทรัพย์สินมาก เกรงจะเสียประโยชน์ หรือเสนอให้มีทรัพย์สินกองกลางของวัด เพื่อให้พระเบิกใช้เป็นค่าดำรงชีพ เป็นต้น แต่ยังไม่เคยมีวิธีใดช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินของพระและวัดได้เหมาะสม
ขณะที่โครงสร้างคณะสงฆ์เป็นระบบรวมศูนย์ ให้อำนาจการบริหารแก่เจ้าคณะทุกระดับ จึงมีโอกาสเกิดระบบอุปถัมภ์ และมีเครือข่ายที่อยู่ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน. – สำนักข่าวไทย