กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – การขอรับเงินอุดหนุนอุปถัมภ์ “นิตยภัต” หรือเงินประจำตำแหน่งของพระ มีระเบียบให้พระต้องเป็นผู้กรอกแบบฟอร์มเพื่อขอรับเงินจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในแต่ละปีงบประมาณ นักวิชาการศาสนา มองว่า อาจสุ่มเสี่ยงที่พระจะทำผิดพระธรรมวินัย และเป็นตัวอย่างของการนำระบบราชการมากำกับดูแลสถาบันศาสนา ติดตามรายงานพิเศษ “สงฆ์กับทรัพย์” วันนี้นำเสนอเป็นตอนที่ 2
นี่เป็นแบบฟอร์ม ซึ่งพระที่มีตำแหน่งเป็นพระสังฆาธิการ พระที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จะต้องกรอกข้อมูล เพื่อขอรับเงินอุดหนุนอุปถัมภ์นิตยภัต หรือเงินประจำตำแหน่ง ตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ต้องกรอกทุกปี และกำหนดให้พระที่ขอรับเงิน ส่งเอกสารนี้ไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ระบุทั้งข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อและฉายา วัดที่จำพรรษา และความประสงค์จะขอรับเงินผ่านบัญชีธนาคารของพระรูปนั้น โดยให้สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร หนังสือสุทธิ บัตรประชาชนพระ และลงลายมือชื่อ เช่น ตัวอย่างเอกสารการแสดงบัญชี การจ่ายเงินนิตยภัตให้กับพระใน อ.เมืองกาญจนบุรี เมื่อเดือนที่แล้ว จำนวนกว่า 100 รูป ยอดรวมกว่า 300,000 บาท
ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ระบุว่า เงินอุดหนุนนิตยภัต แต่ละตำแหน่งแตกต่างกัน ตามบัญชีที่ปรับปรุงใหม่ เมื่อปี 2554 เช่น สมเด็จพระสังฆราช ได้รับเงิน 34,200 บาท เจ้าคณะภาค 17,000 กว่าบาท เจ้าคณะจังหวัด 10,300 บาท และน้อยที่สุด คือ เลขานุการเจ้าคณะตำบล 1,200 บาท ตัวเลขในปีงบประมาณ 2555 สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ จ่ายเงินไปยังบัญชีพระ รวมกว่า 1,100 ล้านบาท
หลังคดีทุจริตเงินทอนวัด จนมีการจับกุมพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ขอข้อมูลวัดที่มีการจัดทำบัญชีเป็นระบบ และหาวัดตัวอย่างที่พระไม่จับเงิน ไม่ถือเงินเป็นของส่วนตัว เพราะอาจเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักพระธรรมวินัย
นักวิชาการด้านศาสนา ระบุว่า การขอรับเงินอุดหนุนนิตยภัต เป็นตัวอย่างความพยายามจากรัฐที่นำเอาระบบราชการมาใช้กับพุทธศาสนา เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเป็นระบบและมีหลักฐาน แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พระประพฤติตนขัดกับหลักพระธรรมวินัยได้ เช่น การที่พระต้องเขียนเอกสารคำขอเป็นผู้รับเงิน และมีบัญชีเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ โครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่มีลำดับชั้น ก็เป็นช่องทางให้เกิดระบบอุปถัมภ์ได้
เงินนิตยภัต ถือเป็นค่าภัตตาหารที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุสามเณรตั้งแต่ในอดีต รายรับของพระสังฆาธิการ และพระที่มีสมณศักดิ์ มาจากเงินทำบุญจากญาติโยม และบางส่วนมาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ คือ เงินนิตยภัต และเงินอุดหนุนการศึกษา เช่น งบอุดหนุนรายหัวโรงเรียนพระปริยัติธรรม และเงินบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน อำนาจในการเบิกจ่ายเงินเหล่านี้ ต้องมีพระและเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งการขอรับเงิน การจ่ายเงิน การติดตามตรวจสอบ ที่ผ่านมามีเงินทุจริตที่ตรวจพบไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
นักวิชาการด้านศาสนา เห็นว่า เมื่อเกิดการทุจริต มีเงินทอนวัด ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐกำหนดให้พระเข้าไปมีบทบาทจัดการทรัพย์สิน จึงถูกใช้เป็นช่องทางหาประโยชน์ จนเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันศาสนาในปัจจุบัน. – สำนักข่าวไทย