กรุงเทพฯ 4 พ.ค.-สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ถก 12 ผู้ค้าน้ำมัน และกระทรวงพาณิชย์ แจ้งวัตถุประสงค์ของดแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาล่วงหน้า ให้เหตุผลผลประโยชน์ผู้บริโภคระยะยาว และอาจเข้าข่ายผิด 3 มาตรา กฏหมายแข่งขันทางการค้า
หลังจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ให้นโยบายแจ้งผู้ค้าน้ำมันงดแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาล่วงหน้า เพื่อส่งเสริมตลาดแข่งขันที่สมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นและหวังราคาน้ำมันขายปลีกจะลดลง 20-25 สตางค์/ลิตรนั้น ล่าสุด ในวันนี้ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ได้ประชุมร่วม 12 ผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งมีการสอบถามและได้หยิบยกความห่วงใยของผู้ใช้น้ำมัน ที่ต้องการให้แจ้งราคาน้ำมันล่วงหน้า การปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันในทางปฏิบัติที่ดำเนินการมานานที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงในเวลา 05.00 น. การแจ้งปรับเปลี่ยนราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลายรายยังไม่พร้อมดำเนินการ
นายทวารัฐ กล่าวว่า ได้แจ้งให้ผู้ค้ารับทราบถึงเจตนารมย์ที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ โดยให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาโดยตรง ลดละเลิกพฤติกรรมที่อ้างอิงราคา จากรายใดรายหนึ่ง การแข่งขันเช่นนี้ แต่ละพื้นที่ราคาก็อาจจะไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคระยะยาว ทำให้ราคาแข่งกันอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ก็พบว่า การแจ้งราคาล่วงหน้าและมีผู้ที่ปรับราคาตาม อาจเข้าข่ายผิด 3 มาตรา พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา 54 ,50 และ 55 ซึ่งได้ให้ผู้ค้าแจ้งปัญหาอุปสรรคต่างๆให้รับทราบ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อตกลงกับผู้ค้าชัดเจนแล้วจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ส่วนการที่เว็บไซต์ ของ สนพ. ที่แจ้งโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งตัด ราคาขายปลีก ค่าการตลาด ให้เหลือเฉพาะโครงสร้าง ราคาขายส่งเท่านั้น ก็เป็นการปฏิบัติ มติ คณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 มีมติเห็นชอบให้ สนพ. เผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึงแค่ราคาขายส่งรวม vat เท่านั้น เป็นเพราะที่ผ่านมา สนพ.ได้อ้างอิงราคาขายปลีกของรายใดรายหนึ่ง (ปตท. ) เท่านั้น จึงทำให้เกิดการเข้าใจว่าเป็นราคาน้ำมันของทางราชการ การตัดโครงสร้างดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการแข่งขัน และประชาชนจะรับทราบค่าการตลาดก็สามารถนำราคาขายปลีกหน้าปั๊มมาหักลบจากราคาขายส่งที่แจ้งโดย สนพ. ก็จะรับทราบได้ว่าค่าการตลาดของแต่ละรายเป็นเท่าใด
นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหารบางจากฯ ระบุว่า การไม่แจ้งราคาล่วงหน้าจะทำให้ผู้ค้าไม่รู้ว่าใครจะปรับราคาขึ้นลงอย่างไร เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ จึงต้องกะเก็งตลาดและปรับตามต้นทุนที่เปลี่ยนไปตามภาวะตลาด การปรับราคาจึงเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าตลาดเกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ราคาก็จะลดลงได้ เพราะไม่มีใครออกมาชี้นำตลาดว่าควรจะปรับราคาอย่างไร เท่าใด และเมื่อไหร่ การแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีรายใดกล้าใช้กลยุทธด้านราคาก่อน แต่เท่าที่ดูในขณะนี้ทุกรายพอใจจะแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธด้านการแจกแถมมากกว่า อีกอย่างหนึ่งรายไหนเริ่มใช้กลยุทธราคาก่อน ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็น low cost brand หรือทำให้เกิด price war ตนจึงไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่
นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแจ้งราคาน้ำมันล่วงหน้า หากราคาปรับเพิ่มขึ้นจะได้เติมราคาน้ำมันในช่วงเย็น ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง และถึงแม้ไม่แจ้งราคาล่วงหน้า รายเล็กก็จะต้องปรับราคาตามรายใหญ่ เพราะ หากปรับราคาในอัตราที่ต่ำเกินไป ผู้บริโภคจะมองว่าเป็นแบรนด์ที่ขายน้ำมันด้อยคุณภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ค่าการตลาดในขณะนี้การค้าน้ำมันต่ำมากอยู่แล้ว ประมาณ 1.50-1.80 บาท/ลิตร ผู้บริโภคได้ประโยชน์เพราะเป็นอัตราที่ต่ำมากติดอันดับต้นๆของโลก ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันจึงได้แข่งขันด้านธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil ) ลดแลกแจกแถมน้ำ รวมไปถึงร้านค้าต่างในปั๊ม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ค่าการตลาดที่เหมาะสมของประเทศไทย จะเป็นเท่าใด ก็เป็นหน้าที่ของ สนพ.ที่จะต้องศึกษา อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคระยะยาว
สำหรับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดกระทําการในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (๑) กําหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม (๒) กําหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจํากัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจําหน่ายสินค้า หรือต้องจํากัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น (๓) ระงับ ลด หรือจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจําหน่าย การส่งมอบ การนําเข้ามา ในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทําลายหรือทําให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ํากว่า ความต้องการของตลาด (๔) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกัน กระทําการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดนั้นในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการใด ๆ อันเป็น การผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขัน -สำนักข่าวไทย