กรมควบคุมโรค 14 เม.ย. – กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนป่วยโรคอาหารเป็นพิษช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ชี้อากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย แนะหลีกเลี่ยง 10 อาหารเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ หลีกเลี่ยงการปรุงสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ทำให้ประชาชนต่างเริ่มป่วยด้วยโรคจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคมากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนมักจะซื้ออาหารหรือน้ำดื่มจากนอกบ้านมารับประทานร่วมกัน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ซึ่งอาจมีเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร หรือทำให้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้
ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 37,312 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ซึ่งพบการกระจายทั่วทุกภูมิภาค โดยส่วนใหญ่กระจายอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
เทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มและรับประทานอาหารร่วมกันของคนในครอบครัว ทั้งนี้ อาหารที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมง หลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน
สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ควรเลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกรับประทานน้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่มีคุณภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ อาหารที่ไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
“ประชาชนที่จะทำบุญตักบาตรในวันสงกรานต์ กรมควบคุมโรคขอเชิญชวนให้ตักบาตรด้วยอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” รวมถึงถวายภัตตาหารที่ปรุงรสชาติให้ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงแก่พระสงฆ์ต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะอ้วน เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.สุวรรณชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย