มิชิแกน 16 มี.ค.- คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (เอ็มเอสยู) ของสหรัฐจะมาวิจัยลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างครอบคลุมไทย กัมพูชา เวียดนาม โดยได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา)
แดเนียล แครเมอร์ อาจารย์ประมงและสัตว์ป่าเอ็มเอสยูเผยว่า โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า 2 ก้อนจากนาซารวม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 93 ล้านบาท) คณะนักวิจัยจะใช้เวลาสามปีวิจัยสถานที่ต่าง ๆ ของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง หวังนำไปใช้ปรับปรุงเขื่อนทั่วโลก เพราะผลกระทบใหญ่หลวงของการสร้างเขื่อนคือ การทำให้คนต้องย้ายถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ต่อคนในพื้นที่และระบบนิเวศวิทยา เช่น การประมงและการเพาะปลูกตามลำน้ำโขงตอนล่างที่เป็นแหล่งประมงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลกของคน 60 ล้านคน การทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ด้านนายฉี เจียกั๋ว อาจารย์ธรณีวิทยาเอ็มเอสยูกล่าวว่า ปัจจุบันแม่น้ำโขงสายหลักมีเขื่อนแล้ว 11 แห่ง และมีเขื่อนตามลำน้ำสาขาอีกกว่า 100 แห่ง คณะนักวิจัยจะวิเคราะห์ผลกระทบของเขื่อนต่อการไหลของลำน้ำ การเกษตรท้องถิ่น การประมง ระบบชลประทาน และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม สร้างแบบจำลองเส้นทางไหลของน้ำในอดีตและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการสร้างเขื่อนและธารน้ำแข็งแถบเทือกเขาหิมาลัยมีขนาดเล็กลง สัมภาษณ์ชาวบ้านรอบเขื่อนและใต้เขื่อนถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่ได้รับ คณะนักวิจัยจะออกรายงานและจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอตลอดการวิจัยนาน 3 ปี จากนั้นจะนำรายงานสรุปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป.- สำนักข่าวไทย