ทำเนียบรัฐบาล 20 ก.พ.-รัฐบาลเดินหน้าโครงการขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค
ที่มีการจราจรหนาแน่น อาทิ รถไฟฟ้ารางเบาที่จังหวัดขอนแก่นและภูเก็ต
รถบบรถโดยสารที่จังหวัดพิษณุโลก
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค
ประกอบด้วย ระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น ใช้รูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) โดยที่รัฐเวนคืนที่ดินแล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งงานระบบและจัดหาตัวรถ
และบำรุงรักษา นำร่องในเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญตำบลสำราญ – ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กิโลเมตร
ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต)
ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) นับว่าเหมาะสมสำหรับจังหวัดภูเก็ต
โดยมีทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต
เป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับระบบรถไฟฟ้า จำนวน 6 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข
402 มีจำนวนสถานี 24 สถานีเป็นสถานียกระดับ 1 สถานี
ที่สถานีท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต และเป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง
และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งตั้งอยู่บริเวณอำเภอถลาง
จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณสถานีรถไฟท่านุ่นจังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ถึง จังหวัดพังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม
58.525 กิโลเมตร ใช้รูปแบบร่วมลงทุน PPP Fast Track ปี
2560 มอบหมายให้ รฟม.
เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายงานการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน
(PPP) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2561
โครงการระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก
ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาโครงการดังกล่าว
โดยเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง และมีความเป็นไปได้มี
3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro
Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) และกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้
3 ลักษณะ คือ ราคา 10 บาท สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้สูงอายุและผู้พิการ
ราคา 10 บาท สำหรับประชาชนทั่วไปในพิษณุโลกราคา 20 บาท และสำหรับนักท่องเที่ยว
ราคา 30 บาท
รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี จำนวน 3 แห่ง
ได้แก่ 1) สถานีขนส่งผู้โดยสาร พิษณุโลก แห่งที่ 1 ขนาด 6 ไร่
รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลักมีความพร้อมค่อนข้างสูง
เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ 2)
ศูนย์การค้าโลตัสท่าทอง ขนาด 25 ไร่ รองรับกิจกรรมที่พักอาศัยเป็นหลัก
ความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลาง
การเชื่อมโยงระหว่างศูนย์การค้าชานเมืองและขั้วความเจริญมหาวิทยาลัยนเรศวร และ 3)
สถานีขนส่งผู้โดยสาร พิษณุโลก แห่งที่ 2 ขนาด 50 ไร่
รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความพร้อมค่อนข้างสูง
เนื่องจากทำเลที่ตั้งใกล้กับศูนย์พัฒนาสี่แยกอินโดจีนและสถานีขนส่งสาธารณะแห่งใหม่และรองรับการบริการขนส่งสาธารณะและบริการด้านโลจิสติกส์
โครงการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้คัดเลือกไว้ 2
โครงข่าย คือ โครงข่าย A ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light
Rail Transit: LRT) 3 เส้นทางได้ แก่ สายสีแดง สายสีน้ำเงิน
และสายสีเขียวรวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร 2) ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสารประจำทาง
จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 89 กิโลเมตร
แต่ละเส้นทางสามารถวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ หรือมีเขตทางพิเศษบางส่วน (Bus
Lane) และ 3) ระบบเสริม เป็นระบบรถโดยสารประจำทางในเมือง จำนวน 7
เส้นทาง ระยะทางรวม 85 กิโลเมตร วิ่งร่วมกับการจราจรปกติในเขตเมือง และโครงข่าย B
ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็น LRT 3 เส้นทาง และมีแนวเส้นทางเช่นเดียวกับโครงข่าย
A แต่โครงสร้างทางวิ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดินทั้งหมด รวมระยะทาง
41.49 กิโลเมตร
ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง
มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A และ 3)ระบบเสริม
เป็นระบบรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A สำหรับแนวทางการลงทุนเสนอให้เป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1
รัฐลงทุน 100% ส่วนรูปแบบที่ 2 PPP รัฐลงทุนงานโยธา
เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า (M&E) และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า
และรูปแบบที่ 3 PPP รัฐร่วมเอกชน จัดตั้งบริษัท และระดมทุน
(กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ทั้งนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
โดยอาจหารือท้องถิ่นถึงแนวทางการดำเนินงานรวมกันต่อไป
โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา
ผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทจราจร ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2560
ได้เลือกระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) มีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ได้แก่
สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1
สร้างสายสีเขียวพร้อมกับสายสีส้ม ระยะที่
2 ได้แก่ สายสีม่วง ดำเนินการหลังจากสายสีเขียวและสายสีส้มเปิดให้บริการแล้วประมาณ
3 ปี ได้คัดเลือกพื้นที่ 2 บริเวณ
ย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือย่านสถานีรถไฟโคราช
และย่านสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2 มอบหมายให้ รฟม.
รับผิดชอบดำเนินการลงทุนและการก่อสร้างโครงการร่วมกับองค์กรท้องถิ่น.-สำนักข่าวไทย